THE SINGHA STORY ตอน ขยายธุรกิจสู่ความเติบโต

0

THE SINGHA STORY

ตอน ขยายธุรกิจสู่ความเติบโต

การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศในทศวรรษ ๑๙๖๐ (พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๑๒) ประกอบกับการขยายตัวของตลาดผู้บริโภคไทยที่ติดใจรสชาติเบียร์สิงห์ นำมาซึ่งยุคทองของบุญรอดบริวเวอรี่ บริษัทครอบครัวที่ผู้นำรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จบการศึกษาจากยุโรปและพร้อมจะคว้าโอกาสที่รออยู่เบื้องหน้า ความท้าทายที่สำคัญสำหรับบริษัทในช่วงสามทศวรรษต่อมาเป็นเรื่องทางโลจิสติก อันได้แก่ จะทำอย่างไรจึงจะสามารถสนองความต้องการเบียร์ของคนทั้งประเทศที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


นายวิทย์และนายประจวบ ภิรมย์ภักดี พร้อมบรูว์มาสเตอร์ชื่อ อัลฟอนส์ เกิ๊ตซ์ (ขวาสุด)

ความสำเร็จของบุญรอดบริวเวอรี่ในฐานะผู้นำตลาดรายสำคัญทำให้บริษัทต้องยกเครื่องโรงงานผลิตและรายการสินค้าเพื่อสนองความต้องการของคอเบียร์ในประเทศและนักดื่มในต่างประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังขยายตัว


ปี ๒๕๐๐ บริษัทออกประกาศแจ้งการเปลี่ยนฉลากเบียร์สิงห์จากสีแดงเป็นสีทอง

ปี ๒๔๙๘ บุญรอดเพิ่มกำลังการผลิตเป็นครั้งแรก จากเดิมที่เคยบรรจุเบียร์ได้ ๖,๐๐๐ ลิตรต่อชั่วโมง ก็เพิ่มเป็น ๑๒,๐๐๐ ลิตรต่อชั่วโมง ด้วยการสร้างถังหมักเบียร์เพิ่มอีก ๒ ถัง (รวมเป็น ๔ ถัง) เพิ่มถังบรรจุอลูมิเนียม และติดตั้งเครื่องบรรจุขวดของ Seitz (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Seitz Enzinger) บริษัทผลิตสายการบรรจุซึ่งปัจจุบันอยู่ในเครือบริษัท KHS แห่งเยอรมนีที่ยังผลิตสายการบรรจุให้โรงเบียร์และโรงงานเครื่องดื่มของบุญรอดมาจนทุกวันนี้

บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่มีการขยายพื้นที่ครั้งใหญ่ในปี ๒๕๑๐ ทำให้อาณาบริเวณรอบบริษัทเพิ่มจาก ๙ ไร่ เป็น ๕๗ ไร่ เหตุที่ต้องขยายพื้นที่ก็เพื่อรองรับโรงงานผลิตที่ปรับปรุงใหม่ใหญ่กว่าเดิม


บริษัท ปทุมธานีบริวเวอรี่ จำกัด ปี ๒๕๕๘

ต่อมาในปี ๒๕๓๓ ก็ได้ฤกษ์เริ่มก่อสร้างโรงเบียร์ใหม่โรงแรกของบริษัทที่ปทุมธานี นับจากการสร้างโรงเบียร์แห่งแรกเมื่อปี ๒๔๗๖ นายประจวบซึ่งอายุย่างเข้า ๘๐ แล้วอยากให้โรงเบียร์แห่งใหม่เป็นผลงานชิ้นเอกในชีวิต จึงลงมากำกับดูแลการออกแบบ จัดหา ตลอดจนการก่อสร้างด้วยตนเอง เพื่อความมั่นใจว่าทุกอย่างในโรงงานแห่งใหม่จะทันสมัยที่สุด ปี ๒๕๓๔ โรงเบียร์ที่ปทุมธานีเริ่มผลิตโซดาและน้ำดื่มบรรจุขวดออกจำหน่าย และปีถัดมาเมื่อได้เทคโนโลยีจาก Huppmann and Krones ก็เริ่มเดินเครื่องผลิตเบียร์ โรงงานแห่งนี้สามารถผลิตเบียร์สิงห์ได้ ๓๖,๐๐๐ ขวดต่อชั่วโมง และมีกำลังการผลิตรวม ๑๐๐ ล้านลิตรต่อปี ต่อมาในปี ๒๕๓๖ กำลังการผลิตก็เพิ่มอีก ๒ ล้านลิตร โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการติดตั้งสายการบรรจุกระป๋องเพิ่มเข้ามา (บุญรอดเริ่มผลิตเบียร์สิงห์แบบกระป๋องเมื่อปี ๒๕๓๒)

Share.