THE SINGHA STORY ตอน เบียร์ตราหมีในสงครามโลกครั้งที่ ๒

0

THE SINGHA STORY

ตอน เบียร์ตราหมีในสงครามโลกครั้งที่ ๒

เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ สงครามปะทุขึ้นในยุโรป เมื่อเยอรมนีภายใต้พรรคนาซีกับสหภาพโซเวียตส่งกองทัพเข้ารุกรานโปแลนด์ ทำให้ฝรั่งเศสกับอังกฤษพลอยเข้ามามีส่วนในความขัดแย้ง และเมื่อถึงปี ๒๔๘๔ กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นก็เคลื่อนพลเข้าไปทั่วประเทศจีนและเข้ามาถึงประตูบ้านของไทย และเรียกร้องให้ไทยอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นฐานปฏิบัติการในภูมิภาค


หลุมหลบภัยในช่วงสงครามโลก ด้านหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร

ผลที่ตามมาจากการเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นนั้นหนักหนาสาหัสสำหรับประเทศไทย เพราะการที่ญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ก็เท่ากับเป็นการเชิญชวนให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมาโจมตี กองทัพสหรัฐฯ และอังกฤษส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้ามาโจมตีกรุงเทพฯ กว่า ๔,๐๐๐ ครั้ง เพื่อทำลายหน่วยทหารและคลังอาวุธยุทโธปกรณ์ของญี่ปุ่น รวมทั้งสิ่งอื่นๆ ที่อาจช่วยสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงของทหารญี่ปุ่น โรงเบียร์บุญรอดบริวเวอรี่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าและสะพานที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และโรงงานอีกหลายแห่ง ถือว่าโชคดีที่ไม่โดนระเบิดแม้แต่ครั้งเดียว


เบียร์ตราหมี เบียร์ของบริษัทบุญรอดฯ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒

แต่โรงเบียร์ก็เริ่มถูกตัดขาดจากสิ่งจำเป็นไปทีละน้อย ส่วนผสมหลายอย่างที่ใช้ในการผลิตเบียร์และน้ำอัดลมต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แม้บริษัทจะมีสต็อกข้าวมอลต์ข้าวบาร์เลย์ และฮ็อปส์ แต่ก็มีในปริมาณที่จำกัดและเริ่มจะร่อยหรอลงเรื่อยๆ ส่วนสารแต่งรสและส่วนผสมอีกหลายอย่างที่ต้องใช้ในการทำน้ำอัดลมนั้นไม่สามารถหาสิ่งทดแทนจากในประเทศได้ ดูรูปการณ์แล้วน่าจะต้องหยุดการผลิตและบริษัทก็อาจจะถึงกับต้องปิดตัว แต่นายประจวบไม่ยอมแม้แต่จะคิดว่าบริษัทอาจประสบชะตากรรมเช่นนั้น บรูว์มาสเตอร์คนแรกของไทยพยายามคิดค้นสูตรเบียร์ที่ใช้ข้าวและวัตถุดิบอื่นจากในประเทศเป็นส่วนผสมมากขึ้น ซึ่งเป็นงานที่หนัก แต่ละวันเขาจะมาโรงเบียร์ตั้งแต่เช้าตรู่และอยู่จนมืดค่ำเพื่อปรุงและชิมเบียร์สูตรใหม่ไม่รู้กี่สูตรต่อกี่สูตรด้วยความตั้งใจจะทำให้โรงเบียร์ดำเนินธุรกิจต่อไปได้และคนงานทั้ง ๕๐๐ คนมีงานทำ นายประจวบทำได้ตามเป้าอยู่ระยะหนึ่ง และเบียร์ที่ปรุงตามสูตรที่เขาคิดขึ้นใหม่ก็ออกวางจำหน่ายในชื่อเบียร์ตราหมี


โฆษณาเบียร์สิงห์และเบียร์ตราหมีของบริษัทบุญรอดฯ ช่วงทศวรรษ ๑๙๔๐

แต่ในที่สุดข้าวบาร์เลย์ก็หมดเกลี้ยงสต็อก เบียร์ที่ปรุงโดยไม่ใช้ข้าวบาร์เลย์นั้นรสชาติผิดจากเดิมมากจนนายประจวบสรุปว่าขืนนำออกวางตลาดก็จะเสียยี่ห้อ จึงให้หยุดผลิตเบียร์ ส่วนการผลิตโซดาก็ต้องหยุดเช่นกันเพราะคาร์บอนไดออกไซด์หมด สินค้าอย่างเดียวที่บุญรอดบริวเวอรี่ผลิตได้ในเวลานั้นคือน้ำแข็ง แต่ก็ไม่รู้จะต้องหยุดวันใดเหมือนกันเพราะก๊าซแอมโมเนียที่ต้องใช้ในห้องเก็บน้ำแข็งนั้นขาดตลาด


รถแห่สิงห์ บนรถมีสาวงามสวมชุดไทย ถือขวดเบียร์ตราหมี ภาพถ่ายในช่วงทศวรรษ ๑๙๔๐

ครั้งนี้ผู้ที่เข้ามากู้สถานการณ์คือนายวิทย์ ซึ่งออกความคิดให้นำเครื่องยนต์เก่ามาติดเครื่องโดยใช้ปุ๋ยแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตก๊าซแอมโมเนีย เมื่อมีก๊าซ บริษัทก็สามารถผลิตน้ำแข็งจำหน่ายเลี้ยงตัวได้ ส่วนก๊าซที่เหลือใช้ก็ขายให้เจ้าของโรงน้ำแข็งรายอื่นในกรุงเทพฯ ทำให้มีกระแสรายได้เพิ่มเติม ความคิดพลิกแพลงและความอุตสาหะวิริยะของสองพี่น้อง บวกกับความทุ่มเทของพนักงาน ช่วยให้บุญรอดบริวเวอรี่อยู่รอดได้ในช่วงสงคราม

 

Share.