THE SINGHA STORY ตอน เหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนเส้นทาง ของตระกูลภิรมย์ภักดี ไปตลอดกาล

0

THE SINGHA STORY

ตอน เหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนเส้นทาง ของตระกูลภิรมย์ภักดี ไปตลอดกาล

ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ มีเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนเส้นทางของตระกูลภิรมย์ภักดีไปตลอดกาล ในปีนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗ ทรงครองราชย์พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๘) ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช โปรดฯ ให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเตรียมการฉลอง ๑๕๐ ปีกรุงรัตนโกสินทร์ที่จะมีขึ้นในปี ๒๔๗๕ สะพานดังกล่าวเป็นสิ่งก่อสร้างถาวรแห่งแรกที่เชื่อมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี พระยาภิรมย์ฯ เห็นเค้าลางสิ่งที่จะเกิดขึ้นและทำนายล่วงหน้าว่า “สะพานนั้นจะทำให้ยานพาหนะข้ามแม่น้ำได้สะดวก และคนก็จะหันไปใช้ทางนั้น” 


ภาพวาดสะพานพระพุทธยอดฟ้า

เมื่อรู้ว่ายุคเฟื่องฟูของเรือข้ามฟากกำลังจะผ่านไป พระยาภิรมย์ฯ ก็เริ่มมองหากิจการใหม่มาทดแทน ตอนแรกท่านคิดจะเปิดโรงงานบุหรี่เหมือนที่เคยเห็นที่ประเทศอังกฤษ หรือไม่ก็ผันตัวเองเป็นผู้ผลิตน้ำตาล เพราะเคยไปเยี่ยมโรงงานน้ำตาลที่ชวามาแล้ว แต่ต่อมาเห็นว่าการเริ่มกิจการเหล่านี้เป็นเรื่องยุ่งยากกว่าที่คาด จึงเลิกความคิดไปในที่สุด


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕ จากคลังภาพของ สรวิช ภิรมย์ภักดี

พระยาภิรมย์ฯ มีเพื่อนเป็นชาวตะวันตกที่มาทำธุรกิจในสยาม ซึ่งในเวลานั้นยังมีจำนวนไม่มากแต่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สมัยนั้นชนชั้นสูงทั้งไทยและต่างชาติมักจะไปรับประทานอาหารและสังสรรค์กันตามสถานที่ที่จัดไว้เฉพาะ เช่น ราชกรีฑาสโมสร สโมสรของชาวอังกฤษ เดนมาร์ก และเยอรมัน วันหนึ่งพระยาภิรมย์ฯ ไปสังสรรค์กับชาวเยอรมันชื่อ เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ ซึ่งทำงานเป็นวิศวกรโยธาอยู่ที่ บริษัทเพาล์ ปิกเคนปัก บริษัทเทรดดิ้งสัญชาติเยอรมันที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองฮัมบูร์กบริษัทของนายไอเซนโฮเฟอร์เป็นผู้นำเข้าสินค้าหลายประเภท ทั้งเบียร์ ไวน์ สุรา นมกระป๋อง รถนั่งส่วนบุคคล รถบรรทุก รถราง อุปกรณ์รถไฟ เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์ถ่ายภาพ และเครื่องจักรอื่นๆ

นายไอเซนโฮเฟอร์เดินทางมาสยามตั้งแต่ปี ๒๔๔๖ และเข้าทำงานที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีส่วนช่วยสร้างทางรถไฟไปจังหวัดลำพูนและลำปาง และเป็นผู้ควบคุมการระเบิดภูเขาด้วยไดนาไมต์เพื่อสร้างอุโมงค์รถไฟซึ่งเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง ในปี ๒๔๖๐ สยามอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๑ นายไอเซนโฮเฟอร์และเพื่อนร่วมชาติถูกทางการสยามส่งเข้าค่ายกักกันพลเรือน ถูกยึดทรัพย์ และต่อมาถูกส่งไปอินเดีย แต่เขาก็ยังรักประเทศสยาม หลายปีต่อมา ทางการสยามเล็งเห็นคุณูปการที่เขาเคยสร้างและจ่ายเงินชดเชยให้เป็นค่าทรัพย์ที่ถูกยึด นายไอเซนโฮเฟอร์ก็กลับมาอยู่สยามจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ หลุมฝังศพและอนุสาวรีย์ที่บรรจุอัฐินายไอเซนโฮเฟอร์ตั้งอยู่ริมทางรถไฟสายเหนือช่วงที่ผ่านจังหวัดลำพูน ใกล้กับอุโมงค์ขุนตาน ความยาว ๑.๖ กิโลเมตรที่เขามีส่วนสร้าง นางเอียร์มการ์ด ภรรยาของนายไอเซนโฮเฟอร์เป็นครูสอนภาษาและสอนว่ายน้ำ เมื่อครั้งที่พระองค์เจ้าอานันทมหิดลและพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชยังทรงพระเยาว์ นางได้ถวายการสอนว่ายน้ำแก่ทั้งสองพระองค์ในทะเลหัวหิน


เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ (ซ้าย) และ ชาร์ลส์ เบอร์นาร์ด ไอน์สลีย์ ขณะก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาน ที่จังหวัดลำพูน เมื่อปี ๒๔๕๖ (เอื้อเฟื้อภาพโดย แมรี่ แอนน์ สแตนิสลอว์)

เมื่อกลับมาอยู่สยาม นายไอเซนโฮเฟอร์สนใจอยากเปิดบริษัทค้าไม้ของตัวเอง การได้พบกับพระยาภิรมย์ฯ จึงคล้ายจะเป็นเรื่องพรหมลิขิตดลบันดาล ในวันที่ทั้งสองได้พบกันและน่าจะพูดคุยกันเรื่องโอกาสทางธุรกิจในสยามนั้น นายไอเซนโฮเฟอร์ได้แนะนำให้พระยาภิรมย์ฯ รู้จักเครื่องดื่มของเยอรมันชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อท่านได้ลิ้มรสก็ติดใจในทันที และนับจากนั้นเส้นทางชีวิตของท่านก็แปรเปลี่ยนไปจากเดิม เครื่องดื่มดังกล่าวก็คือเบียร์นั่นเอง

Share.