THE SINGHA STORY ตอน แนะนำเบียร์สยามให้ชาวสยาม

0

THE SINGHA STORY

ตอน แนะนำเบียร์สยามให้ชาวสยาม

จากวันที่พระยาภิรมย์ฯ ได้ลิ้มรสเบียร์เป็นครั้งแรกจนถึงวันที่เขาเริ่มกิจการโรงเบียร์แห่งแรกในสยาม เวลาได้ผ่านไปถึง ๕ ปี และเป็น ๕ ปีที่ยาวนานและเต็มไปด้วยความท้าทาย


แขกผู้มาชิมเบียร์ในพิธีเปิดโรงเบียร์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๗๗

บุญรอดบริวเวอรี่เริ่มผลิตเบียร์ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ บรูว์มาสเตอร์ฟรานซ์ พุลต์ซ ได้ทดลองสูตรหลายต่อหลายสูตรเพื่อผลิตเบียร์ที่เขาหวังว่าจะมีความเด่นเป็นที่ถูกใจตลาดใหม่ในต่างแดนแห่งนี้ ส่วนพระยาภิรมย์ฯ คิดหาวิธีที่จะตั้งชื่อเบียร์และทำฉลากที่เด่นสะดุดตาเพื่อเป็นการสร้างแบรนด์ไปในตัว ย้อนไปเมื่อครั้งที่พระยาภิรมย์ฯ กับนายประจวบ บุตรชายคนรองเดินทางท่องยุโรปนั้น สองพ่อลูกได้เก็บฉลากเบียร์มาหลายสิบฉลาก ครั้งนี้นายวิทย์บุตรชายคนโตตัดสินใจจัดการประกวดตั้งชื่อเบียร์และออกแบบฉลากโดยเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมประกวดมีเงินรางวัลให้ผู้ชนะอันดับ ๑ ๒ และ ๓ รวม ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ในสมัยนั้นการประกวดครั้งนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำการตลาดในยุคแรก และทำให้บริษัทตั้งใหม่นามว่าบุญรอดบริวเวอรี่เป็นที่สนใจในวงกว้าง


บางส่วนของผลงานที่ส่งเข้าประกวดตั้งชื่อและตราสินค้า ในปี ๒๔๗๗
โดย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้คัดเลือกชื่อและตราสินค้าที่เหมาะสมสำหรับเบียร์ที่จะเปิดตัวในอีกไม่ช้า

ในสมัยนั้นเมื่อจะมีงานสำคัญของชาติ ของกิจการ หรือครอบครัว เจ้าภาพมักจะขอให้โหรหาฤกษ์งามยามดีปัจจุบันธรรมเนียมนี้ก็ยังถือปฏิบัติกันเป็นปกติทั่วทวีปเอเชีย ในกรณีการเปิดบริษัทใหม่ โหรจะคำนวณฤกษ์ผานาทีตามตำราโบราณเพื่อหาฤกษ์ที่เป็นมงคลสูงสุด และฤกษ์มงคลสำหรับการเปิดบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ก็คือเวลา ๑๗ นาฬิกาของวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๗๗  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระปิตุลาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นครูช่างแห่งสยาม เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีและทรงเปิดป้ายชื่อบริษัท


ด้านหน้าอาคาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เมื่อมองจากแม่นํ้าเจ้าพระยา

โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี บุคคลสำคัญในรัฐบาลและวงสังคมราว ๔๐๐ คนร่วมในพิธี จากนั้นมีการเลี้ยงออร์เดิร์ฟและนำแขกเยี่ยมชมโรงเบียร์ ซึ่งแขกต่างก็ประทับใจในขนาดของโรงเบียร์ เครื่องจักรที่ทันสมัยตลอดจนกระบวนการอันซับซ้อนในการผลิตเบียร์ ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเครื่องดื่มพื้นๆ ง่ายๆ โรงเบียร์บุญรอดบริวเวอรี่ในวันเปิดกิจการมีอาณาบริเวณประมาณ ๙ ไร่ มีคนงานประมาณ ๑๐๐ คน และสามารถผลิตเบียร์ได้ประมาณ ๑,๐๐๐ ขวดต่อชั่วโมง


บางส่วนของภาพวาดตราสินค้ายุคแรกของบริษัท เป็นรูปตราว่าวปักเป้าทอง

วันรุ่งขึ้น บุญรอดบริวเวอรี่เปิดตัวเบียร์ใหม่ให้ประชาชนที่รอคอยได้ลองลิ้มถึง ๓ ยี่ห้อ ได้แก่ ตราว่าวทอง ตราสิงห์และตราพระปรางค์ โดยจำหน่ายในราคาเท่ากันคือขวดละ ๓๒ สตางค์ ซึ่งจัดว่าค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัวประชากรในสมัยนั้น ซึ่งอยู่ที่ประมาณ ๓๑ บาทต่อปี แต่ผ่านไปไม่นานคนก็เรียกเบียร์ทั้งสามว่า “เบียร์เจ้าคุณ” ตามบรรดาศักดิ์เจ้าของคือพระยาภิรมย์ภักดี

Share.