BEER STORIES เรื่องเบียร์ๆ

0

BEER STORIES

ฉบับที่ 2/2015 พฤษภาคม 2558

ฉบับที่ 2/2015 พฤษภาคม 2558

Download Button

สิงห์ แมกกาซีน ฉบับนี้ขอนำเสนอ เรื่องราวแบบเบียร์ๆ มาให้ท่านผู้อ่านได้มีโอกาสทำความรู้จักกับโลกของเบียร์ในหลายๆ ด้านด้วยกัน ทั้งประวัติเบียร์โดยสังเขป เบียร์ดังของโลก และครอบครัวเบียร์ที่จะนำเสนอเป็นตอนๆ ต่อไป ในทุกฉบับของปี 2015

ความรู้ทั่วไป
เบียร์เป็นเครื่องดื่มผลิตที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คาดว่าจะมีการผลิตครั้งแรกประมาณ 9,500 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 11,500 กว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกับการค้นพบธัญพืช แต่ที่แน่นอน มีการบันทึกเครื่องดื่มเบียร์ในสมัยเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) หรือประมาณช่วง 3,100 ปีถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล และสมัยอียิปต์ประมาณช่วงเดียวกัน และเครื่องดื่มคล้ายเบียร์ก็ถูกผลิตขึ้นในยุโรปในยุคสมัยเดียวกันนั้น มีผลไม้ผสม ยังไม่มีฮอบส์ แต่จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีการบันทึกเครื่องดื่มที่ใช้ฮอบส์ครั้งแรกในยุโรปคือปี ค.ศ. 822 โดยพระฝรั่ง ภายในศตวรรษที่ 7 ได้มีการผลิตเบียร์กันอย่างทั่วทุกแห่งหนในยุโรป โดยเฉพาะผลิตในขนาดเล็กเพื่อดื่มเองและแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน น่าจะคล้ายกับ
คราฟท์เบียร์ในยุคปัจจุบัน แต่วัดฝรั่งกลายเป็นจุดศูนย์กลางการผลิตที่ใหญ่ที่สุดเพื่อการขายโดยเฉพาะ และพระก็ดื่มเองด้วยบ้าง ต่อมาในปี ค.ศ. 1516 ได้มีการกำหนดมาตรฐานการผลิตเบียร์ขึ้นที่รัฐบาวาเรีย ให้ใช้เพียงนํ้า ฮอบส์และบาร์ลีมอลต์เท่านั้นถึงจะเรียกเครื่องดื่มว่าเบียร์ได้ ปัจจุบัน monk (วิหารเบนเนดิคแห่ง Weihenstephan) ถือว่าเป็นโรงผลิตเบียร์แห่งแรกของโลก ตัววิหารก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 725 และเริ่มผลิตเบียร์ในปี ค.ศ. 1040 และยังคงมีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้ชื่อว่า Bayerische Staatsbrauerei Weihenstephan หรือโรงเบียร์แห่งรัฐบาวาเรียประจำ Weihenstephan เมือง Freising รัฐบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ชาวโลกจึงจัดให้แถบนี้ของยุโรปเป็นศูนย์กลางการผลิตเบียร์ของโลกไปโดยปริยาย เพราะปัจจุบันมีโรงเบียร์มากที่สุดตั้งอยู่ในเยอรมนีและสาธารณรัฐเช็กและมียอดดื่มรายบุคคลที่สูงที่สุดเช่นกัน ไม่ใช่อียิปต์หรืออิรัก (เมโสโปเตเมียเดิม) ที่เป็นแหล่งกำเนิดเบียร์ดั้งเดิม

นํ้าคือวัตถุดิบที่สำคัญที่สุดในการผลิตเบียร์ และนํ้าในแต่ละภูมิภาคที่มีความแตกต่างกันก็จะเหมาะกับการผลิตเบียร์ที่ต่างกันไป เช่นนํ้าในบางภาคของไทยก็จะเหมาะกับการผลิตเบียร์ลาเกอร์ (lager) แบบเบียร์สิงห์ รสชาติถึงได้ออกมาเข้มข้น หรือนํ้าที่ประเทศไอร์แลนด์ก็จะเหมาะกับการผลิตเบียร์ดำ (stout) อย่าง Guinness ที่น่าสนใจคือในอดีต นํ้าดื่มแถบยุโรปสกปรกมาก คนจึงนิยมดื่มเบียร์มากกว่านํ้าเพราะสะอาดกว่า เชื้อโรคที่ไม่ดีถูกฆ่าไปหมดแล้ว

ยักษ์ใหญ่ของโลก
ปัจจุบันบริษัทผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุด 4 บริษัท มียอดขายรวมกว่า 50% ของตลาดเบียร์โลกคือ Anheuser-Busch InBev(ABInBev), SABMiller, Heineken International และ Carlsberg Group เรียงตามลำดับความใหญ่ ก่อนหน้าปี ค.ศ. 1988 บริษัทผลิตเบียร์ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทแยกตามประเทศต่างๆ แต่ ตั้งแต่ปี 1988 บริษัทผลิตเบียร์ต่างๆ ได้หันมารวมตัวกับบริษัทข้างเคียงที่ส่วนใหญ่จะมีขนาดใกล้เคียงกัน เริ่มต้นที่การรวมตัวของโรงเบียร์อาร์ทัวส์ (Brouwerij Artois) ผู้ผลิตเบียร์ดัง Stella Artois ที่เบลเยียม รวมตัวกับโรงเบียร์ Piedboeuf ผู้ผลิตเบียร์ยี่ห้อ Piedboeuf และ Jupiter ของเบลเยียมเช่นกัน เมื่อรวมตัวกันแล้วกลายเป็นบริษัท Interbrew และในปี ค.ศ. 1999 โรงเบียร์ Brahma และ Antarctica ที่บราซิลก็รวมตัวกันกลายเป็น Ambev ระหว่างนั้นทั้ง Interbrew และ Ambev ต่างก็เข้าฮุบโรงเบียร์เล็กโรงเบียร์น้อยตามที่ต่างๆ มาเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งคู่ เวลาต่อมาในปี 2002 ทางโรงเบียร์ที่แอฟริกาใต้ South African Brewery ก็ซื้อบริษัทเบียร์ใหญ่ของอเมริกาคือ Miller Brewery แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น SABMiller ต่อด้วยปี 2004 บริษัท Interbrew ที่ในขณะนั้นเป็นบริษัทเบียร์ยักษ์อันดับ 3 ของโลกก็ได้รวมตัวกับ Ambev แห่งบราซิล ซึ่งมียอดขายเป็นอันดับที่ 5 ของโลกและเปลี่ยนชื่อเป็น InBev เป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มหันมาจับมือหรือรวมตัวระหว่างบริษัทเบียร์ใหญ่ หรือบ้างก็เป็นการรวบซื้อกิจการของคู่แข่งเพื่อเป็นการขยายบริษัทแบบก้าวกระโดด โดยไม่ต้องค่อยๆ ออกเบียร์ใหม่เพื่อลองตลาดหรือพยายามแย่งตลาดจากบริษัทเบียร์คู่แข่งแบบเมื่อก่อนอีกต่อไป สร้างความตกใจให้กับบริษัทเบียร์ขนาดที่เล็กกว่าทั่วโลก โดยเรียกว่า InBev ก็เริ่มตะครุบโรงเบียร์ต่างๆ ทั่วโลกอย่างเร็วไว ในระหว่างนั้นเอง Anheuser Busch บริษัทเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาก็ขยายตัวออกนอกประเทศด้วยการซื้อหุ้นในโรงเบียร์ในอเมริกาใต้ ยุโรป และเอเชีย ซึ่งรวมถึงแบรนด์ชั้นนำระดับโลกอย่างเช่น Corona, Harbin, Tsingtao ทางบริษัทอเมริกันนี้ก็ถือหุ้นส่วนแล้ว แต่ในปี 2009 เป็นปีที่ยักษ์ใหญ่ 2 ยักษ์ได้รวมตัวกันโดย InBev เข้าซื้อ Anheuser Busch เปลี่ยนชื่อเป็น Anheuser-Busch InBev ขึ้นแท่นเป็นบริษัทเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปโดยปริยาย ผลัก SABMiller ลงเป็นที่ 2 หลังจากที่ SABMiller นั่งแท่นเบอร์หนึ่งนานหลายปี จากการซื้อโรงเบียร์ Bavaria ที่ใหญ่ที่ 2 ของอเมริกาใต้เมื่อปี 2005 ต่อด้วย Foster แห่งออสเตรเลีย ในปี 2011 และล่าสุดในปี 2014 SABMiller ได้พยายามซื้อ Heineken NV แต่ว่าไม่สำเร็จ หากซื้อได้ก็จะสามารถกลับมาขึ้นแท่นเป็นเบอร์หนึ่งเหมือนเดิมได้เร็วขึ้น หลายคนว่าที่ SABMiller พยายามทำเช่นนั้นก็เพื่อกันไม่ให้พี่ใหญ่คนใหม่มาฮุบตัวเองได้ เป็นที่น่าจับตามองเกมการขยายตัวของยักษ์ใหญ่ทั้ง 4 นี้ต่อไปว่าใครจะฮุบใคร เพราะการจะขยายตัวแบบก้าวกระโดดต่อไปได้ก็คือการซื้อกันเองแล้ว แต่ในระหว่างนั้นทั้ง 4 นี้ก็ยังคงหาซื้อโรงเบียร์เล็กๆ ที่ยังเหลืออยู่ไปพลางก่อน

อ่านต่อได้ใน
[Singha Magazine: ฉบับที่ 2/2015 พฤษภาคม 2558]

 

Share.