Singha Museum พิพิธภัณฑ์สิงห์ ที่กำเนิดเบียร์ไทยแห่งแรกของสยาม

0

SINGHA MUSEUM

Download Button

อาคารโรงต้มเบียร์ตั้งเด่นสง่าอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยามาครบ 47 ปี ในปีนี้ หากมองทะลุกระจกเข้าไปจะเห็นเงาของหม้อต้มทองแดง 4 หม้อที่หาพบได้ยากแล้วในโรงเบียร์ที่สร้างใหม่สมัยนี้ บานกระจกที่เคยลํ้ายุค ในสมัยนั้นถูกปิดมิดชิดมานานหลังจากที่บริษัทได้ย้ายฐานการผลิตออกไปนอกเขตเมืองตั้งแต่ปี 2544 ด้านในห้องต้มก็ไม่มีคนเดินไปเดินมาเหมือนแต่ก่อน ดูเงียบเหงาผิดตา ปล่อยให้ฝุ่นเกาะหม้อต้ม สีลอกตามเพดานในห้องต่างๆ รวมถึงห้องหมักเบียร์ พื้นเริ่มบวมเพราะอุณหภูมิภายในไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหมือนครั้งที่โรงงานยังทำหน้าที่ผลิตเบียร์ประจำวันอยู่ แต่อีกไม่นาน พื้นที่แห่งนี้จะกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นใหม่อีกครั้ง ในหน้าที่ใหม่ ในนามของ “พิพิธภัณฑ์สิงห์” หรือ Singha Museum เพื่อบอกเล่าประวัติความเป็นมาของ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และพระยาภิรมย์ภักดี ท่านผู้ก่อตั้ง จุดเริ่มต้นใหม่ของอาคารหม้อต้มปี 2511 ซึ่งเป็นอาคารที่ 2 ที่สร้างต่อเติมจากอาคารแรกเมื่อปี 2476 แห่งนี้ จะเป็นเสมือนบทนำของการพิพิธภัณฑ์ของบริษัท และมีกำหนดที่จะเสริมต่อไปเรื่อยๆ

ความคิดที่จะจัดทำพิพิธภัณฑ์ของบริษัทมีมานานแล้ว มีโครงการจะทำใหญ่ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่ด้วยงบประมาณที่สูงมากบวกกับต้องใช้สอยพื้นที่เป็นจำนวนมาก ขณะที่บริษัทเองต้องลงทุนกับโรงเบียร์ใหม่ ทั้งขยายกิจการในด้านอื่นๆ และยังต้องใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ที่สามเสนอยู่ จึงได้พักโครงการนั้นไปก่อน การฟื้นโครงการกลับมาในครั้งนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบให้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เลือกใช้พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน บวกกับจัดสรรงบประมาณอย่างจำกัดต่อปี ซึ่งดีกว่า เพราะได้มีการวางแผนล่วงหน้าเป็นลำดับโดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ใช้สอยในปัจจุบันที่มีความจำกัดมากขึ้น และก็ได้สนองคำถามของผู้ที่มาเยือนบริษัทหลายคนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ต่างถามกันว่า “บริษัทมีพิพิธภัณฑ์หรือไม่ เพราะมีประวัติศาสตร์ยาวนานที่น่าสนใจ ทำไมถึงไม่มี น่าจะมีนะ หากมีอะไรบอกเล่าบ้าง ผู้คนก็จะสามารถเรียนรู้ถึงความเป็นมาของบริษัทได้ และคนจะได้ไม่ลืมไง” ล้วนเป็นคำพูดจริงๆ ทั้งนั้นที่หลายคนได้เอ่ยถามและผู้เขียนได้พบเจอด้วยตัวเอง

โครงการพิพิธภัณฑ์นี้เริ่มออกแบบมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและเริ่มกั้นรั้วรอบพื้นที่ตั้งแต่ต้นปีนี้ ตอนแรกมีกำหนดเปิดอย่างไม่เป็นทางการในเดือนสิงหาคม มีแผนที่จะค่อยๆ ปรับการจัดแสดงให้ลงตัวภายใน 2 เดือนหลังจากนั้น แต่ก็ต้องมาพบกับความล่าช้าในเรื่องต่างๆ เริ่มด้วยการเจาะเสาเข็มเพื่อทำฐานสำหรับทางเข้าใหม่ที่ใช้เวลามากกว่ากำหนดเพราะพื้นคอนกรีตมีความหนากว่าที่ทางผู้รับเหมาคาด ซึ่งจริงแล้วเป็นปกติสำหรับการก่อสร้างในสมัยก่อนที่จะปูฐานให้แน่นกว่าสมัยนี้ นอกจากนี้กระจกรอบด้านที่ชั้น 2 ห้องหม้อต้มก็มีความขุ่นและมีรอยร้าวในบางจุด ต้องเปลี่ยนใหม่อีกทั้งบานกระจกก็เลื่อนไม่ได้แล้วหลังจากปิดตายมาเกือบ 15 ปี ต้องทำการซ่อมแซมครั้งใหญ่ นอกจากนี้ตู้โชว์ต่างๆ ก็ต้องสั่งทำพิเศษ โดยส่วนประกอบบางชิ้น เช่น กระจก ใช้เวลาประดิษฐ์ มากกว่าที่ได้แจ้งไว้ และอีกหลายๆ เรื่องทั้งเล็กและใหญ่ พอมาผนวกกันแล้วทำให้พิพิธภัณฑ์ต้องเลื่อนการเปิดออกไปประมาณ 2 เดือน คาดว่าจะเสร็จสิ้นและเปิดได้อย่างไม่เป็นทางการในช่วงปลายปีนี้ ตามที่บริษัทผู้ดูแลโครงการได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ ทางสิงห์ แมกกาซีน ก็ได้คาดว่าจะออกฉบับนี้ให้ทันการเปิด เพื่อจะได้เป็นเสมือนไกด์นำทัวร์ไปในตัว ซึ่งก็ยังคงไว้เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นการนำท่านผู้อ่านมารู้จักกันก่อนว่าจะพบอะไรบ้างภายในพิพิธภัณฑ์ก่อนที่จะได้ไปเดินชมกันจริงๆ

อ่านต่อได้ใน
[Singha Magazine: ฉบับที่ 4/2015 พฤศจิกายน 2558]

Share.