ยิ่งพูดเบา เสียงจะยิ่งดังเข้าไปถึงหัวใจ

0

โลกปัจจุบันในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้า รอบตัวเราเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร เรื่องที่เกิดขึ้นในที่แห่งหนึ่งจะรับรู้ถึงคนที่อยู่อีกซีกโลกในชั่วพริบตา เราทุกคนถูกทำให้รักหรือเกลียดโดยไม่รู้ตัวจากการเสพข้อมูลข่าวสารที่วิ่งวนอยู่รอบตัว

ในยุคสมัยนี้การสื่อสารจึงเป็นมากกว่าเพื่อสร้างการรับรู้ แต่ยังสามารถสร้างความรู้สึกที่ดีให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กร แบรนด์สินค้า หรือตัวบุคคลต่างก็ส่งเสียงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตนให้ดังไปถึงผู้คนในสังคม แต่วิธีการนี้คงไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องที่ต้องการสร้างความรู้สึกที่ดีมากกว่าเพียงแค่สร้างการรับรู้

การให้ความสำคัญกับการบอกเล่ามากเกินไป ทุ่มเทสรรพกำลังในการสื่อสารมากเกินไปอาจให้ผลในทางตรงข้าม

ความดังของการเล่าเรื่องจะกลบเสน่ห์เล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในเนื้อหา จนผู้ฟังไม่สามารถสัมผัสความงดงามของเรื่องนั้นได้ และอาจจะปิดใจที่จะรับฟังเรื่องนั้นไปเลย ที่จริงแล้วเรื่องดีๆ มันเคลื่อนไหลไปตามวิถีของมันอยู่แล้ว ช้าๆ เบาๆ แต่มีพลัง มีอานุภาพในการเคลื่อนเข้าไปในใจคนไม่จำเป็นต้องไปปรุงแต่งไม่ต้องไปกระตุ้นเพิ่มเติมดังนั้นการสื่อสารด้วยน้ำหนักที่ไม่มากเกินไป ด้วยท่าทีที่อ่อนน้อมกลับยิ่งทำให้คนเปิดใจรับฟังมากกว่า และรู้สึกดีกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้มากกว่า

อย่างเช่นเรื่องราวของคุณยอดรัก สลักใจ ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน

ในวันนั้นข่าวนักร้องลูกทุ่งขวัญใจคนไทย “ยอดรัก สลักใจ” ล้มป่วยด้วยโรคร้ายแรง สร้างความตกใจให้คนในสังคม เมื่อได้รับรู้ข่าวนี้จากรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ในขณะที่คุณยอดรักยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ยิ้มอารมณ์ดี หัวเราะ และประกาศว่าไม่กลัวความตายที่กำลังคืบคลานเข้ามา จะยังคงเดินหน้าสร้างความสุขให้กับแฟนเพลงต่อไป

เช้าวันรุ่งขึ้นคุณสันติ เรียกผมกับพี่บอย ฉัตรชัยเข้าพบ เพื่อบอกให้เราทั้ง 2 คนช่วยดูแลคุณยอดรักด้วย พร้อมกับฝากจดหมายส่งถึงคุณยอดรัก ผมนำจดหมายส่งให้พี่ยอดรักและบอกคำพูดที่คุณสันติฝากถึงพี่ยอดรัก ว่าจะช่วยดูแลค่ารักษาพยาบาลโดยไม่ประสงค์ทำข่าวใดๆ ทั้งสิ้น เรื่องค่าใช้จ่ายไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่การแสดงตัวยืนเคียงข้างกันในวันที่มีเรื่องทุกข์ใจสำคัญและมีค่าต่อความรู้สึกมากกว่า

หลังจากนั้นพวกเราได้เวียนไปเยี่ยมเยียนพี่ยอดรักและโทรศัพท์ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันอยู่เนืองๆ จนคุ้นเคยกัน

จนถึงวันที่พี่ยอดรักจากไป ก็ยังไม่เคยปรากฏข่าวการช่วยเหลือของเราต่อพี่ยอดรักแม้แต่ชิ้นเดียว กระทั้งวันหนึ่งมีพี่นักข่าวไปบ้านพี่ยอดรัก สังเกตเห็นจดหมายฉบับหนึ่งใส่กรอบแขวนไว้ที่ผนังห้อง เดินเข้าไปอ่านจึงพบว่าเป็นจดหมายที่คุณสันติเขียนถึงคุณยอดรักที่ผมนำไปมอบให้ก่อนหน้า และทราบจากภรรยาพี่ยอดรักว่า เป็นเรื่องที่พี่ยอดรักประทับใจในน้ำใจของคุณสันติและพวกเราชาวบุญรอดฯ ที่มอบให้เขาและครอบครัวมาก จนต้องนำจดหมายฉบับนี้ใส่กรอบแขวนเป็นที่ระลึกในห้องสำคัญของบ้าน

วันรุ่งขึ้นเรื่องราวความช่วยเหลือของเราที่มีต่อพี่ยอดรักมาโดยตลอด ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อดังสู่สังคม ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่โตและรายงานอย่างเรียบง่ายแต่ก็ดังเข้าไปถึงหัวใจของผู้คนที่ได้รับรู้จนเกิดคำชื่นชมมากมาย

อีกเรื่องที่น่าประทับใจเกิดขึ้นในช่วงโควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาดหนัก

ในขณะนั้นระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมากมายมหาศาลได้ โรงพยาบาลทุกแห่งเต็ม โรงพยาบาลสนามทุกที่เต็ม ห้อง icu เต็ม เครื่องช่วยหายใจถูกใช้ประคองชีวิตผู้ป่วยทุกเครื่อง ผู้คนที่นอนรอความช่วยเหลือที่บ้านล้มตายเป็นใบไม้ร่วง ญาติพี่น้องเห็นความตายของคนที่ตนรักต่อหน้าโดยไม่สามารถช่วยเหลือหรือเข้าใกล้ได้ด้วยความเจ็บปวด คนที่เหลือก็ใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว จนภาคสังคมต้องจับมือกัน ช่วยเหลือดูแลกันทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ แน่นอนว่าในขณะนั้นบริษัทฯได้ให้การสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลรอง โรงพยาบาลสนาม มูลนิธิ วัด กลุ่มอาสาสมัครฯ ผ่านเครือข่ายสิงห์อาสามาโดยตลอด

หนึ่งในกลุ่มอาสาสมัครที่สิงห์อาสาได้ร่วมงานด้วยคือกลุ่ม “เราต้องรอด” ของได๋ ไดอาน่า จงจินตนาการ ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ลุกขึ้นมาช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มกำลัง
ห้าทุ่มกว่าของคืนวันอาทิตย์วันหนึ่ง ได๋ส่งไลน์มาหาทีมสิงห์อาสา
“พี่ขา หนูมีเรื่องด่วนขอรบกวนค่ะ”
“สิงห์อาสาพอส่งเครื่องผลิตออกซิเจนให้หนูตอนนี้เลยได้ไหมคะ คืนนี้มีผู้ป่วยวิกฤตตามบ้านออกซิเจนตกเยอะมากค่ะ เครื่องออกซิเจนของทีมหนูเหลือเครื่องสุดท้ายแล้ว”

ในขณะที่ “ต้า” หัวหน้าทีมกู้ชีพของ “เราต้องรอด” บอกกับน้องๆ ในทีมว่า
“เลือกมาเคสนึง ที่เราจะเอาเครื่องออกซิเจนไปต่อชีวิตให้เขา”
“เคสที่เหลือต้อง…ทำใจ”
“เราทำเต็มที่แล้ว เราช่วยทุกคนไม่ได้”
ทีมงานทุกคนน้ำตาคลอ ทำใจไม่ได้ที่จะต้องชี้ให้ใครมีชีวิตต่อหรือต้องตายต่อหน้าครอบครัวอย่างทรมาน

ครึ่งชั่วโมงต่อมา นับจากเวลาที่ได๋ส่งไลน์มาหาทีมสิงห์อาสา เครื่องผลิตออกซิเจน 10 เครื่องแรกที่คุณต๊อดสั่งซื้อไว้เพื่อช่วยผู้ป่วยวิกฤตตามบ้านส่งถึงมือทีมกู้ชีพ “เราต้องรอด” และอีก 20 เครื่องจากคุณสันติและคุณเต้ส่งถึงในวันต่อมา
00:53 ไลน์จากได๋รัวเด้งเข้ามาอีกครั้ง เป็นรูปคนป่วยรายแรกที่รอดชีวิตด้วยเครื่องผลิตออกซิเจนที่สิงห์อาสาส่งให้

“รอดแล้ว 1 ค่ะ ต่อชีวิตได้ทันที”

และข้อความจากได๋
“อย่าเปิดเสียงไลน์เข้านะคะ คืนนี้ยังอีกยาวไกลค่ะ” วินาทีนั้นผมเข้าใจแล้วว่าคุณค่าของการดูแลกันมันงดงามแค่ไหน

สิ่งแรกที่ผมทำตอนตื่นคือเปิดไลน์ดูข้อความจากได๋ เห็นรูปคนป่วยที่ได้รับออกซิเจน ผ่านพ้นความตายทยอยเข้ามาตลอดทั้งคืน
รอดแล้ว 1…
รอดแล้ว 2…
รอดแล้ว 3…
รอดแล้ว 4…5…6………..
ในคืนที่ใครหลายคนหลับใหล ยังมีทีมงานเล็กๆ วิ่งไปทุกที่เพื่อช่วยชีวิตคนป่วย จาก 1 เป็น 2 เป็น 3 เป็น 4… 30 ชีวิตใน 24 ชั่วโมง ถูกยื้อกลับมาจากความตาย รอยยิ้ม ความโล่งใจของทั้ง 30 ครอบครัวในคืนนั้นมีค่าเหลือเกิน
บ่ายวันนั้น ได๋ กลุ่มเราต้องรอด หมอแล็บแพนด้า ได้โพสต์ข้อความขอบคุณ และบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคืนก่อนให้สังคมได้รับทราบ เสียงของคนตัวเล็กๆ ที่บอกเล่าด้วยความจริงใจนี้ถึงแม้ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่โตอะไร แต่ก็ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในสังคม และก็ดังพอที่จะเข้าไปถึงหัวใจสร้างความรู้สึกที่ดีให้เกิดขึ้นได้

Closeup of loving couple holding hands while sick , Hand of young woman touching old woman in hospital

ทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้จบลงแค่ความรู้สึกดีของสังคมที่มีต่อองค์กรของเรา แต่มันมีค่ามากกว่านั้นมาก เพราะทำให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือดูแลกันและกัน หนักแค่ไหนเราก็ผ่านไปได้ถ้าเราดูแลกันและพวกเรา คนหัวใจสิงห์จะอยู่ตรงนั้นเพื่อดูแลสังคมเสมอ

เรื่องราวที่น่าประทับใจเหล่านี้คงไม่สามารถสร้างความรู้สึกที่ดีแบบที่เป็นอยู่นี้ได้ ถ้าเราให้ความสำคัญกับการสื่อสารมากเกินไป

บางทีการสื่อสารที่ดีที่สุดคือการลงมือทำทำให้เยอะ พูดให้น้อย อ่อนน้อมถ่อมตน แบบที่บุญรอดฯ สอนให้พวกเราเป็นมาตลอด 89 ปี


รวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์
ผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์
บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
Share.