อัคคพล พรมวงค์ “ครูช่าง” ผู้ส่งต่อความรู้ เพื่อให้ตนเองได้เรียนรู้

0

ยิ่งถ่ายทอดความรู้สู่ผู้อื่น ยิ่งเป็นการลับคมความสามารถของตน เป็นแนวคิดของ “ช่างเมย์” อัคคพล พรมวงค์ ผู้เริ่มต้นจากศูนย์ ผ่านการฝึกฝนพัฒนาตนจนก้าวสู่ความเป็น “ครูช่าง” และไมสเตอร์มาตรฐานเยอรมันรุ่นแรกของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทั้งเป็นผู้ปลูกปั้นเด็กอาชีวะให้เป็นแรงงานคุณภาพชั้นนำเปี่ยมด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ

เมื่อแรกเริ่มทำงานที่บุญรอดฯ
ผมทำงานที่บุญรอดฯ ได้ 11 ปีแล้วครับ เป็นช่างไฟฟ้า ฝ่ายวิศวกรรม-ซ่อมบำรุง สังกัดปทุมธานีบริวเวอรี่ เรียนจบสายช่างอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก่อนจะมาทำงานที่บุญรอดฯ ผมเป็น QA Technician ผู้ดูแลคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทแห่งหนึ่ง ไม่เคยมีประสบการณ์ซ่อมเครื่องจักรผลิตเบียร์เลย พอมาเห็นเครื่องจักรที่บุญรอดฯ ครั้งแรกตกใจเลยครับ เครื่องใหญ่กว่าบ้านผมอีก ความรู้ด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหารเราก็ไม่เคยมี ต้องมาหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต คอยถามรุ่นพี่ บางคำถามเล่นเอารุ่นพี่งงว่าเป็นช่างยังไงมาถามคำถามแบบนี้ ถือว่าเริ่มจากศูนย์เลยครับ แต่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เลือกมาทำงานที่นี่ เพราะจะได้เป็นช่างอย่างที่เราชอบจริงๆ

 

เทคนิคการปรับตัวและฝึกฝนการทำงาน
ทำงานที่แรกผมเคยเป็นหัวหน้า มีลูกน้องพอมาทำงานที่นี่เป็นลูกน้องเขา ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ใช้ศิลปะการพูดที่ทำให้รุ่นพี่เขารู้สึกว่าเราเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานของเขาไม่ใช่มาเป็นภาระให้เขา และต้อง “กระตุ้นตัวเองให้ค่อยๆ เรียนรู้ตลอดเวลา อย่าทำตัวเหมือนน้ำเต็มแก้ว” แล้วก็หมั่นจดบันทึก ผมชอบจดใส่สมุดพอทำงานไปติดตรงไหน นึกไม่ออกก็กลับไปเปิดดู ผมว่าการจดช่วยให้ผมเรียนรู้งานได้เร็วขึ้น

 

คำแนะนำดีๆ ที่เคยได้รับและอยากส่งต่อ
เป็นคำแนะนำที่ได้มาจากเหตุการณ์ที่ผมจะต้องขึ้นไปพูดบนเวทีในงานของสิงห์เวย์ครับ ผมสั่นมาก กลัวว่าตัวเองจะพูดไม่ได้ พอคุณนิดหน่อยรู้เข้าท่านก็มาคุยกับผม สอนว่า ถูกแล้วที่เราจะกลัวก่อนก้าวออกมาจากคอมฟอร์ทโซน เพราะเราไม่รู้ว่าก้าวออกมาแล้วจะเจอความเสี่ยงอะไรบ้าง “การจะรับมือกับความกลัวและความเสี่ยงได้คือการเตรียมตัวให้พร้อม” ในมุมมองของผม การเตรียมตัวคือการหาข้อมูลเพื่อประเมินความเป็นไปได้และปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในสิ่งที่จะทำ แล้วเอาข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์จากความรู้ที่เรามี ทุกวันนี้ไม่ว่าผมจะไปสอนที่ไหนหรือจะทำโปรเจคต์อะไร ก็จะเริ่มจากการเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุดก่อน

ได้รับโอกาสเข้าโครงการฝึกฝนเป็น “ครูช่าง”
ช่วงนั้นกระแส AEC กำลังมา รัฐบาลอยากโชว์ศักยภาพแรงงานไทยจึงร่วมมือกับหอการค้าเยอรมันและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดโครงการครูช่างตามมาตรฐานเยอรมัน เขาเชิญบริษัทเอกชนชั้นนำของไทยให้มาเข้าร่วม บริษัทเราก็ได้มีนโยบายให้แต่ละโรงงานคัดเลือกช่างส่งไป ผมเป็น 1 ใน 6 ช่างจากบุญรอดฯ ที่ผ่านการคัดเลือก ตอนแรกผมลังเลเพราะโครงการมีระยะเวลาฝึกอบรมนานถึง 11 เดือน เกรงว่าจะกระทบกับรายได้และวันทำงาน แต่มาคิดๆ ดูแล้วก็ตัดสินใจยอมลำบากในช่วงเวลาหนึ่ง แลกกับสิ่งที่ได้รับคือความรู้และทักษะจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากๆ ครับ

นำทักษะต่อยอดการทำงาน เสริมศักยภาพในวิชาชีพ
จากหลักสูตรครูช่าง 11 เดือน ผมได้ไปเรียนต่ออีกหลักสูตรคือ AdA (ครูฝึกวิชาชีพตามหลักสูตรของวิทยาลัยที่เบอร์ลิน) พอจบแล้วเขาได้ให้ certificate จากเยอรมนี ทำให้ผมมี license ที่สามารถเซ็นเกรดให้นักศึกษาอาชีวะได้ เด็กๆ ปวช.ที่เข้ามาเป็นลูกศิษย์ผมและฝึกงานที่โรงงานปทุมธานี (ผ่านโครงการของหอการค้าเยอรมัน) จะได้รับวุฒิปวส. จากทั้งวิทยาลัยในไทยและในเบอร์ลิน คือได้วุฒิในระดับสากลเลย เด็กรุ่นแรกที่มาเรียนกับผมตอนนี้มี 2 คนได้เป็นช่างอยู่ในบริษัทเราครับ ผมต้องขอบคุณบริษัทมากๆ ที่ให้โอกาสผมได้ฝึกอบรมเป็นครูช่าง แล้วยังมอบทุนให้ผมได้ศึกษาต่อด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรม เป็นปริญญาตรีใบที่สองของผมด้วย ผมมีวุฒิครู ได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนเด็กอาชีวะในหลายๆ สถาบัน และได้นำทักษะความรู้มาปรับใช้ในหลายๆ โครงการของบริษัท ทั้งการจัดทำ WI (Work Instruction) ในโรงงานปทุมธานีฯ รวมถึงการกำหนดหลักสูตรเพื่อนักศึกษาอาชีวะในโครงการเพื่อการศึกษาร่วมกับหน่วยงานบริหารองค์ความรู้และส่งเสริมสังคมของบริษัท

สิ่งที่ได้รับจากการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้
การเป็นครูสอนช่างทำให้ผมมองภาพของงานช่างได้กว้างขึ้น ตอนผมเข้าไปซ่อมเครื่องจักร ผมจะไม่ได้เห็นว่าตัวเองทำงานแบบไหน แต่พอผมได้สอนคนอื่น มองคนอื่นทำ ผมจึงเห็นภาพกว้างขึ้นว่ายังมีช่องโหว่อะไรในการทำงานที่ยังต้องปรับอีกบ้าง มันทำให้ผมนึกถึงคำสอนของพ่อผมที่บอกว่า มีดต่อให้เป็นมีดวิเศษขนาดไหน ถ้าใช้ไปไม่ลับคมมันก็ทื่อ ซึ่งผมคิดว่า “การสอนคนก็เหมือนการลับคมให้ตนเอง” เพราะจะได้มีการทบทวนและอัพเดตตัวเองอยู่เสมอ

สิ่งสำคัญที่ครูเมย์ส่งต่อให้กับลูกศิษย์
ผมจะเน้นย้ำคำว่า “วิชาชีพ” เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ช่างแต่ละสาขามีเกียรติของตัวเอง ในมุมมองของผม คำว่า วิชาชีพ มีความหมายแตกต่างจากคำว่า อาชีพ เราจะเห็นว่า มีเพียงบางอาชีพเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องให้เป็นวิชาชีพ ซึ่งต้องได้รับการสั่งสอนอบรมเป็นวิชาชีพชั้นสูงในลักษณะอบรมกันหลายปีตามหลักการที่ถูกต้องเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เราต้องซื่อสัตย์กับวิชาชีพของตัวเอง ใช้ความรู้ความชำนาญไปในทางที่ดีงามต่อผู้รับบริการ ต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ ต่อตนเอง และต่อสังคมส่วนรวม

อัคคพล พรมวงค์
ช่างไฟฟ้า ฝ่ายวิศวกรรม-ซ่อมบำรุง
บริษัท ปทุมธานีบริวเวอรี่ จำกัด
Share.