บริหารเงินสไตล์พนักงานบริษัท ให้มีเงินเก็บพอใช้ทั้งชีวิต

0

อาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ถือว่าเป็นอาชีพในฝันของหลายๆ คน เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกมาแล้วนั้น ก็มีความฝัน มีความมุ่งหวังว่าอยากจะเข้าร่วมทำงานกับบริษัทเอกชน องค์กรใหญ่ๆ เป็นบริษัทที่มีความมั่นคงทางการเงิน สามารถเป็นองค์กรที่ตนเองสามารถฝากอนาคตในชีวิตการทำงานไว้ร่วมกับบริษัทได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีองค์กรขนาดใหญ่หลายๆ องค์กรในประเทศไทย สามารถรองรับการทำงานให้กับใครหลายๆ คนในอาชีพของพนักงานบริษัทเอกชนได้

หลายคนคงรู้ดีว่า การทำงานในบริษัทเอกชนนั้น อายุการทำงานส่วนใหญ่จะเกษียณจากการทำงานเมื่อตนเองครบอายุ 55 ปี หรือ ครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ และหลังจากเกษียณอายุจากการทำงานไปแล้ว ตนเองก็ต้องใช้ชีวิตอยู่

ต่อไป แต่ไม่มีรายได้เป็นเงินเดือนเข้ามาแล้ว คำถามที่หลายคนถามตัวเองอยู่เป็นประจำก็คือ จะมีรายได้จากไหน? มาเป็นเงินใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 20-30 ปี โดยเฉลี่ยตามอายุขัยของคนไทยทั่วไป

บทความนี้จึงเป็นตัวอย่างของเรื่องราวการบริหารเงินในสไตล์พนักงานบริษัทเพื่อให้ตนเองมีเงินเก็บพอใช้ตลอดทั้งชีวิตได้แบบสบายๆโดยไม่ต้องกังวลใจอีกต่อไปพร้อมแล้วเราก็เริ่มต้นเข้าสู่เรื่องราวพร้อมกันครับ

คนส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยก็เข้าสมัครทำงานในบริษัทเอกชนต่างๆ ซึ่งอายุเฉลี่ยของน้องๆ ที่จบจากรั้วมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ก็อายุประมาณ 22 ปี เมื่อเริ่มเข้าทำงานในวัยนี้ก็ยังพบกับความสนุกสนาน สังสรรค์กับเพื่อนๆ บ้างหลังเลิกงานหรือช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ บางทีก็รวมกลุ่มกันจัดทริปท่องเที่ยวเดินทางไปทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ยังโสดและเป็นชีวิตที่ยังไม่ได้แต่งงานมีครอบครัว ดังนั้น การบริหารการเงินของคนวัยแบบนี้จะเรียกว่า กลุ่มคน “First Jobber” ซึ่งอายุประมาณ 22-30 ปี เป้าหมายของการเก็บเงินของคนวัยนี้ส่วนใหญ่ก็เพื่อซื้อคอนโดหรือทาวน์โฮมเป็นที่อยู่อาศัย ซื้อรถยนต์ส่วนตัวบ้าง รวมทั้งการเก็บเงินเพื่อให้ตนเองมีเงินก้อนโต เมื่อถึงอายุประมาณ 40 ปีซึ่งเป็นวัยกลางคนเพื่อแสดงผลลัพธ์จากการทำงานมาครึ่งทางของหนึ่งชีวิตคนวัยทำงาน

การบริหารเงินของคนวัยทำงานแบบ “First Jobber” อายุ 22 – 30 ปี
เป้าหมายของคนกลุ่มนี้จะมองที่ผลลัพธ์ เงินเก็บก้อนโตเมื่ออายุ 40 ปี พร้อมกับในแต่ละปีจะต้องสามารถวางแผนภาษีรายได้จากงานประจำ สามารถขอคืนเงินภาษีได้ในแต่ละปีเป็นผลลัพธ์ด้วย เพราะการได้คืนภาษีเท่ากับได้เงินเก็บในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น ด้วยความต้องการและเป้าหมายแบบนี้นั้น ในฐานะที่ปรึกษาการเงินจึงแนะนำให้ทุกคนเริ่มต้นจากการจัดสรรเงินเดือนแต่ละเดือน ออกเป็น 3 ส่วนดังนี้

ส่วนที่ 1: เก็บ 10% ของเงินเดือน
หักเงินเก็บออมทุกเดือนทันทีเมื่อเงินเดือนออก ทำแบบนี้ไว้เพื่อลงทุนสร้างเป้าหมายระยะยาว เงินเก็บก้อนโต เมื่ออายุ 40 ปี (สินค้าทางการเงินที่ใช้บริหารเงิน ได้แก่ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ / ประกันชีวิตควบการลงทุนแบบ Unit Linked /  กองทุนรวม SSF / กองทุนรวมผสมทั้งหุ้นไทยและหุ้นทั่วโลก การแนะนำ 4 สินค้าทางการเงินเพื่อบริหารเงินเก็บระยะยาว 10 ปีขึ้นไปแบบนี้จะทำให้ทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายเก็บเงิน 1 ก้อนโตตามแผน เมื่ออายุ 40 ปีได้ ซึ่งสินค้าทางการเงินแต่ละแบบก็จะมีลักษณะเฉพาะตัว และการยอมรับความเสี่ยง ความผันผวนได้แตกต่างกันออกไป แต่ด้วยการลงทุนระยะยาว 10 ปีขึ้นไปจริงๆ จะทำให้เกิดถัวเฉลี่ยความเสี่ยง ถัวเฉลี่ยความผันผวนได้ลดลงต่ำไปมากเลยทีเดียวครับ

ส่วนที่ 2: เก็บ 20% ของเงินเดือน
เก็บไว้ในธนาคาร บัญชีประเภทออมทรัพย์ หรือเก็บไว้ในกองทุนรวมตลาดเงินได้ การเก็บแบบนี้เพื่อเป็นเงินสำรองยามฉุกเฉิน เงินสำหรับการใช้จ่ายตามเป้าหมายระยะสั้นต่างๆ เช่น ไปเที่ยวต่างประเทศกับเพื่อน ดาวน์รถ ดาวน์บ้านดาวน์คอนโด จากความจริงในชีวิตของคนวัยนี้  ผมในฐานะ “ที่ปรึกษาการเงิน” พบว่า เงินเก็บสำรองแบบนี้ค่อนข้างมีความสำคัญ เพราะทำให้คนวัยนี้อยากได้อะไรให้เก็บเงินก่อน  จึงลดภาระ ลดปัญหาการก่อหนี้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นการใช้จ่ายเงินในอนาคตได้เป็นอย่างดี

ส่วนที่ 3: ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 70% ของเงินเดือนที่ได้รับในแต่ละเดือน
เงินในส่วนนี้เป็นส่วนสุดท้ายที่เหลือในบัญชีธนาคารจากการที่เรารับเงินเดือนเข้ามาแล้วจัดสรรออกไปเก็บอีกที่หนึ่งแล้ว 30% ของเงินเดือน ตามส่วนที่ 1 และ ส่วนที่ 2 ที่ได้กล่าวข้างต้น เพราะฉะนั้นพูดได้เลยว่า ถ้าใช้ส่วนนี้หมดในแต่ละเดือนก็ไม่มีปัญหา เพราะได้เก็บเงินไปบ้างแล้วบางส่วนพอประมาณ จึงทำให้สามารถใช้จ่ายเงินต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ในชีวิตของ First Jobber ได้ในแต่ละวัน

*หมายเหตุ ถ้าเงินเดือนทั้งปีบวกโบนัส สะสมรวมกันตั้งแต่ 310,000 บาทขึ้นไป ถึงจะมีโอกาสเริ่มเสียภาษีเงินได้ประจำปี เริ่มต้นฐานภาษี 5% ไปจนถึง 35% ฝากผู้อ่านที่เป็น First Jobber เปิดสลิปเงินเดือนของตนเองดูรายได้สะสมที่เกิดขึ้น หลังจากได้อ่านบทความนี้

ถัดไป เราดูมากันสำหรับ คนที่อายุก้าวเข้าสู่หลัก 4 อายุ 40 ปีขึ้นไป เป็น “วัยมั่นคง” ในหน้าที่การงาน อยู่ในตำแหน่งระดับหัวหน้างานผู้จัดการ ผู้บริหาร ซึ่งบางท่านอาจจะแต่งงานมีครอบครัว มีลูก กันบ้างแล้ว หรือบางท่านอาจจะเป็นโสด ชอบใช้ชีวิตกับกลุ่มเพื่อน รักอิสระในชีวิต ซึ่งไม่ว่าเราจะเป็นคนแบบใด พวกเราต่างมีจุดมุ่งหมายไปแบบเดียวกันก็คือ “เมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน ต้องมีเงินใช้ไปตลอดชีวิต” บางองค์กรอาจให้อายุเกษียณ 55 ปี หรืออายุเกษียณ 60 ปี ก็เป็นได้ตามนโยบายและระเบียบปฏิบัติขององค์กรนั้นๆ คำถามที่คนวัยนี้ส่วนใหญ่ตั้งคำถามอยู่ในใจเป็นประจำก็คือ  “เมื่อเราเกษียณจากการทำงานแล้ว จะมีรายได้จากไหนมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน”

จากเส้นเวลาข้างต้น เราจะเห็นว่า หลังจากที่คนเราเกษียณจากการทำงานไปแล้วนั้น ไม่มีรายได้จากงานประจำ แต่ยังคงต้องมีรายจ่ายเพื่อดำรงชีวิตประจำวันอยู่ต่อไปจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ยังไงก็ตามต้องมีรายได้เข้ามาเพื่อใช้จ่ายดำรงชีวิตแน่นอน ซึ่งในฐานะของ“ที่ปรึกษาการเงิน” ผมขอเสนอว่า “รายได้จากการบริหารเงินเก็บ” สามารถทำให้ผู้คนในวัยเกษียณมีรายได้เข้ามาต่อเนื่องไปตลอดชีวิตได้ครับ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ดังนี้ครับ

จากภาพ เมื่ออายุ 60 ปี เกษียณจากการทำงาน ได้เงินก้อนทุกช่องทางสะสม 5,000,000 บาท แล้วนำเงินก้อนนี้ไปบริหารผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายมุ่งเน้นสร้างรายได้ประจำต่อเนื่อง ผลตอบแทน 6% ต่อปีโดยเฉลี่ย จะทำให้คนวัยเกษียณมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 25,000 บาท โดยที่เงินก้อนโต 5 ล้านบาท ยังอยู่เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ เก็บ กิน ใช้ เฉพาะผลตอบแทนจากการบริหารเงินที่เกิดขึ้น ซึ่งจุดสำคัญที่ดีต่อใจของการบริหารเงิน สร้างรายได้ประจำในรูปแบบนี้คือ ทำให้คนเกษียณมีความสุขและมีความมั่นคงในจิตใจว่า “แก่ตัวมา ฉันมีเงินใช้ได้ไปตลอดชีวิต ด้วยการพึ่งพาเงินเก็บของฉันเอง”

ผู้อ่านบทความทุกท่านครับ ที่ต้องการ “บริหารเงินสไตล์พนักงานบริษัทให้มีเงินพอใช้ไปตลอดชีวิต” นั้น หัวใจสำคัญง่าย ๆ มี 4 ข้อ ดังนี้

1. เก็บเงินแต่ละเดือนจากเงินเดือนให้ได้อย่างต่อเนื่องทุกเดือนอย่างมีวินัย “เงินมาก เงินน้อย ไม่สำคัญ สำคัญที่ขอให้เก็บได้”

2. ลงทุนบริหารเงินให้เป็น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนรวม SSF & RMF / กองทุนรวมผสมเน้นลงทุนตามกลยุทธ์ตลาด เพราะการนำเงินไปลงทุน จะช่วยให้เกิดความเร็วในการเพิ่มค่าขึ้นของเงินเก็บเราครับ

3. วางแผนภาษีจากรายได้ให้เป็น เช่น เงินเก็บ 1 ก้อนที่ลงทุนใน “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ได้ทั้งลงทุนต่อยอดเงิน ได้เงินสมทบจากบริษัทให้ได้ลดหย่อนภาษีด้วย หรือการลงทุนในกองทุนรวม SSF & RMF ก็ได้ประโยชน์ 2 เด้ง เช่นกันครับ เงินเติบโตและลดหย่อนภาษีได้เงินภาษีกลับคืนมาทุกๆ ปี

4. การมองเห็นเป้าหมายอนาคตของตัวเองชัดเจน อายุ 40 ปี ตัวเองจะเป็นอย่างไร มีชีวิตในแบบไหน หรือเมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน หลังเกษียณ ชีวิตของตนเองเป็นแบบใด ก็จะทำให้เกิดพลังในการลงมือปฏิบัติตามเป้าหมายแผนการบริหารเงินครับ

อภิวัฒน์ หวังมีชัย
ที่ปรึกษาการเงิน
Facebook Page: บนกองเงินกองทอง
Share.