พร้อมหรือยังกับโลกยุคใหม่ BANI WORLD…

0

พร้อมหรือยังกับโลกยุคใหม่ BANI WORLD…
คุณจะเลือกให้โลกอยู่ยาก หรือ โลกอยู่ง่ายมาก สำหรับคนของคุณ

โลกยุคใหม่…ที่เรียกว่า BANI world ของ Jamais Cascio อาจจะเป็นคำที่ยังไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายๆ คน เพราะ VUCA world ที่ทุกคนคุ้นหู ยังตระหนกกันไม่ทันเสร็จ ก็ยังคงดำเนินไปอยู่อย่างไม่หยุดนิ่ง รวดเร็ว และผันผวน ทว่า ตอนนี้ BANI มาอีกแล้ว แบบที่เรียกได้ว่า ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก และเพื่ออรรถรสในการอ่าน…สำหรับท่านที่ยังไม่คุ้น นิยามสั้นๆ ของ BANI คือตามนี้เลยครับ

แน่นอนครับ พอได้อ่านคำอธิบายเบื้องต้นข้างบนแล้ว ผมว่าแทบทุกคนจะไม่รู้สึกแปลกใจอะไรมากมาย เพราะว่าจริงๆ แล้ว ยุค BANI นี้ได้เกิดขึ้นแล้วให้เป็นประจักษ์กันถ้วนหน้า และเป็นคลื่นลูกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นซ้อนกับ VUCA world

เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ผมเชื่อว่า แทบทุกส่วนก็ได้พยายามรับมือและบริหารจัดการหน้างานของตัวเอง เพื่อให้ทั้งตนเองและหน้าที่ บทบาท ความรับผิดชอบของตน ไปต่อได้ ไม่ว่าจะไปต่ออย่างสง่างามหรือทุลักทุเลก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าท่านไหนได้ลองศึกษาสิ่งที่กำลังจะเกิดกับโลกในปี 2030 รับรองท่านจะต้องยิ่งขนลุก เพราะมันคือการรวมตัวกันของ VUCA และ BANI และ โลกอนาคต ที่มนุษย์ จะเปลี่ยนมุมมอง พฤติกรรม ความต้องการ ไปโดยสิ้นเชิง แบบปั่นรวมกันเป็นสมูธตี้ที่ผู้บริหารองค์กรจะต้องดื่ม และจัดการ ไม่ว่ามันจะออกมาเป็นสมูธตี้ที่อร่อยหอมนุ่มลิ้นหรือขมจนกลืนไม่ลงก็ตาม

ดังนั้น เมื่อเราเลี่ยงมันไม่ได้แน่ๆ ผมมีบางสิ่งที่อยากแนะนำองค์กร ผู้บริหาร และหัวหน้างาน ที่อยากพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งมีเพียง 3 คำสั้นๆ ที่หลายๆ คนเคยได้ยินมานานแล้วด้วยซ้ำ (แต่ทำไม่ได้เสียที)

PROACTIVE: จงกระตือรือร้น

ในฐานะผู้บริหาร หรือหัวหน้า คุณต้องลงจากหอคอย และเลิกคิดเข้าข้างตนเองว่าโลกหมุนรอบคุณได้แล้วครับ อ่านถึงตรงนี้ คุณก็อาจจะเถียงทันทีว่า…ฉันไม่ได้อยู่บนหอคอย ฉันใกล้ชิดกับทีมงานจะตาย… อันนี้คุณต้องไม่ถามตัวเองครับ คุณต้องถามพนักงานที่คุณดูแลว่าเขาเมื่อยคอไหม เวลาต้องเชิดหน้าคุยกับคุณที่อยู่บนหอคอย หรือ เขาโอเคมาก ที่ได้คุยกับคุณแบบเพื่อนรู้งานคุยกัน เพราะเรื่องนี้มันน่าแปลกอยู่อย่างนึงครับ คือ คนที่นั่งอยู่บนหอคอย มักไม่รู้ตัวว่ากำลังนั่งบนหอคอย แต่คนที่อยู่ติดกับพื้นดิน มักจะเห็นชัดกว่า เมื่อมองมาจากพื้นข้างล่าง

ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะอะไรน่ะหรือ เพราะมันใกล้จะหมดยุคที่คนเก่งหรือ Talent จะเดินเข้าหาคุณแล้วอยู่ใต้การบริหารคุณตลอดไป อย่าลืมว่า แม้เขากำลังเผชิญ BANI world หรือ โลกที่หมุนเปลี่ยนไปเร็วนี้ คนเก่งๆ เขามีทางเลือกมากขึ้นมีคนต้องการเขาเยอะขึ้นด้วย option งานให้เลือกมากมาย และเขามีแต้มต่อในการมุ่งหน้าแสวงหาโลกที่สมดุลให้กับเขามากขึ้นเช่นกัน

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ คุณจำเป็นต้องตื่นตัว เข้าหาลูกน้องทุกคน ใกล้ชิดกับ talent รับฟังเพื่อนร่วมงานที่คุณมีส่วนในการดูแล ด้วยใจที่เปิดกว้างว่าความต้องการของเขาเหล่านั้นในชีวิตการทำงานกำลังเปลี่ยนไปแล้ว และเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง บางคนอยากทำงานที่บ้านมากขึ้น เพราะเชื่อว่า Productivity ดีกว่า ชีวิต Balance ได้มากกว่า และเหลือเวลาไว้ใช้อยู่กับครอบครัวมากกว่า บางคนอาจจะไม่อยากเป็นลูกจ้างประจำแล้ว เพราะเขามีความสามารถอื่นที่เขาทำได้ และสามารถสร้างรายได้อีกทางให้ตนเองและครอบครัว เขาอาจจะขอทำงานให้คุณเพียงสัปดาห์ละ 3 วัน แล้ววันที่เหลืออาจจะไปรับจ้างเป็นโปรแกรมเมอร์ให้บริษัท start up ก็ยังได้


“เอาหัวใจมาบริหารคนอย่างเข้าใจในยุคที่คนวิตกกังวล”
Photo by Muhammad Faiz Zulkeflee on Unsplash

SENSITIVE: จงละเอียดอ่อนและรู้จักใช้หัวใจ

เริ่มต้นง่ายๆ เลย อย่าตีขลุมว่า การบริหารคน จะเหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้วโดยเด็ดขาด เพราะนั่นแปลว่า คุณกำลังจะตกโลก และอีกเดี๋ยวเดียว จะไม่เหลือคนทำงานให้คุณ

BANI World แม้จะดูไม่น่าพิสมัย แต่มันกำลังเปิดโอกาสและบอกให้คุณแสดงความเป็น “มนุษย์” มากขึ้น คือ เอาหัวใจมาบริหารคนอย่างเข้าใจ ในยุคที่คนวิตกกังวล อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน และดูเหมือนว่าจะเข้าใจได้ยากไปหมด คนทุกคนย่อมรู้สึกไม่ปลอดภัย และแน่นอน ใครๆ ก็ต้องพยายามเอาตัวรอดทั้งในเรื่องส่วนตัว ครอบครัว และเรื่องอาชีพการงาน คำถามใหญ่ คือ แล้วคุณในฐานะผู้บริหาร หรือ ตัวแทนขององค์กร พร้อมจะเป็นสิ่งที่พวกเขาไว้ใจ และรู้สึกปลอดภัยเมื่อมาทำงานด้วยหรือเปล่า และต่อม sensitive ของคุณ “ไว” ต่อเรื่องพวกนี้แค่ไหน

พนักงานบางคนที่ตั้งท้องแล้วยอมลดการใช้สิทธิ์วันลาคลอด เพื่อให้งานของบริษัทดำเนินไปได้ดี อาจจะไม่ใช่เรื่องที่คุณสามารถคาดหวังได้อีกต่อไป หรือการที่คุณมองว่า คนที่ลางานเพื่อพักร้อนแล้วยังต้องมานั่งทำงานคือสิ่งที่เป็นเรื่องปรกติ คุณกำลังค่อยๆ ตัดแต้มบวกขององค์กรออกจากหัวใจพนักงาน

ตรงกันข้าม คุณต้องพยายามละเอียดอ่อน ในรายละเอียดของตัวบุคคลมากขึ้น ใส่ใจ จริงใจ และพร้อมจะส่งมอบให้พวกเขามากกว่าเพียง “สวัสดิการของบริษัท” ที่เขียนแห้งๆ ไว้ในคู่มือพนักงาน ซึ่งสิ่งที่คุณน่าจะลองทำนั้น อาจจะมาในรูปแบบทางจิตใจ เช่น ข้อความแสดงความขอบคุณ กำลังใจ หรือ ขอโทษ ที่ตอบโจทย์ในสิ่งที่เขาเหล่านั้นเป็น หรือกำลังเผชิญ ทั้งในเรื่องส่วนตัว และเรื่องงาน


สร้างทางเลือก เพื่อเสนอให้กับองค์กร และพนักงานได้ win-win ด้วยกันทั้งคู่
Photo by fauxels from Pexels

ADAPTIVE: จงก้าวทัน และ ถ้าทำได้ จงก้าวนำหน้าความเปลี่ยนแปลง

เรื่องการบริหารคนนับจากวันนี้ไป นอกจาก Proactive และ Sensitive แล้ว คุณต้อง Adaptive ครับ เพราะมันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าคุณพยายามเข้าหาเพื่อนร่วมงาน พยายามละเอียดอ่อน ใช้หัวใจในการบริหารคนแล้ว แต่คุณไม่ได้เดินไปสู่จุดที่ต้องทำ ซึ่งก็คือ เปลี่ยนแปลงและปรับตัว เพื่อให้คนเก่งยังอยู่กับคุณ เพราะสถานะ สภาวะ และเงื่อนไขบางอย่างจะต้องเปลี่ยนไป หรือเปลี่ยนไปแล้ว

เมื่อคุณ Proactive คุณจะตระหนักรู้สถานการณ์ได้ไว เมื่อคุณ Sensitive มันจะทำให้คุณได้สัมผัสหัวใจของคน แต่จากทั้งสองสิ่งที่ได้มา คุณต้องพร้อมจะนำมันมาประมวลผลและสร้างทางเลือก เพื่อเสนอให้กับองค์กรและพนักงานได้ win-win ด้วยกันทั้งคู่บนโลกแห่ง BANI

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าวันนี้ เมื่อโควิดหมดไปยังมีองค์กรไหนที่ยังยืนยันว่าจะไม่เปิด Flexibility ให้พนักงาน Work from home หรือ Work from anywhere ได้ ผมว่า อีกไม่นาน องค์กรนั้น จะเหนื่อยกับการ recruit คนครับ เพราะตอนนี้ การเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันกันปรับตัวนี้เกิดขึ้นแล้ว เช่น บางบริษัทพูดชัดเลยว่า “เราไว้ใจคุณ” จะนั่งทำงานที่ไหนก็ทำไปขอแค่ว่า ทำงานส่ง และรับผิดชอบ และยังทำงานให้เราด้วยดี

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บางบริษัท ยอมเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างทางเลือก และทางรอด ในมุมการบริหารคนให้ตัวเอง โดยสร้างรูปแบบการจ้างสำหรับบางตำแหน่งขึ้นมา เพื่อให้คนเก่งที่เฟ้นหาเพื่อจ้างได้ยาก มาทำงานให้บริษัทของเขา เช่น การจ้างงาน IT เป็น project หรือ จ้างทำของ หรือจ้างแบบ Part time ทั้งๆ ที่เมื่อก่อน เน้นจ้างแบบเป็นพนักงาน Full time ของบริษัทเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

และยังมีบางรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่คุณและบริษัทต้องลองพิจาณาเพื่อปรับตัว โดยลงไปดูที่สาระของงานจริงๆมากกว่ายึดกฎเดิมๆ ที่ไม่เคยคิดเปลี่ยน เช่น ในบางเนื้องานที่ไม่ต้องเข้างาน 8 โมง แล้วเรายังต้องให้เขาตอกบัตร 8 โมงอยู่อีกหรือ หรือจะลองเปิดใจปรับตัวอีกสักหน่อย ให้มันตรงจริตและสาระของงาน โดยยึดหลักว่าทุกคนยัง win-win และไม่กระทบต่อลูกค้า และกฎระเบียบข้อสำคัญๆ (ส่วนกฎไหนปรับได้แล้วชีวิตดีขึ้น ก็ปรับเปลี่ยนมันเถิดครับ)

มาถึงจุดนี้ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า ถ้าผู้บริหารท่านไหน หรือบริษัทไหน ที่รู้จัก Proactive, Sensitive และ Adaptive อย่างไรเสียจะไม่มีวันตกโลก และยังจะสามารถนั่งบริหารงานอยู่กลางใจคนได้ ในโลกที่หลายคนอาจมองว่า “อยู่ยาก” แต่สำหรับคุณแล้วถ้าทำได้ครบทั้ง 3 อย่าง มันจะกลายเป็น “โลกที่อยู่ง่ายและยังมีความสุขมาก” สำหรับทุกคนรอบๆ ตัวคุณ

ศรัณย์ คุ้งบรรพต
HR professional – Artist – Lecturer – Columnist
Share.