“เราต้องแยกเรื่องหัวใจและเรื่องงานออกจากกันสิ” ปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ใครหลายคนพยายามจะยึดถือและทำตาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เลย เพราะถ้าความรู้สึกในหัวใจมันห่อเหี่ยว แล้วจะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปทำงานหรือคิดอะไรใหม่ๆ เรียกว่า หัวใจ ยังไงก็สัมพันธ์กับความ Healthy ในทุกๆ ด้านของชีวิตอย่างเลี่ยงไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ Singha Wellness โครงการที่ส่งเสริมไลฟ์สไตล์ด้านสุขภาพของชาวสิงห์ ภายใต้แนวคิด Happiness ของ Singha Way จึงได้กำเนิดกิจกรรมดีๆ ขึ้น เพื่อ “ฮีลใจ” พนักงาน โดยเชิญ 2 นักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ชื่อดัง และ “กูรู” ที่ปรึกษาปัญหาหัวใจแห่งยุค พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา และ พี่อ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล มาร่วมเป็นศิราณี ถาม-ตอบปัญหาหัวใจ พร้อมให้คำแนะนำฉบับคนทำงานอย่างเป็นกันเอง
ในกิจกรรม “Heal Jai Good Day Every Day ตอบปัญหาหัวใจ เปิดมุมมองใหม่กับการดำเนินชีวิต ทั้งด้านการทำงานและชีวิตส่วนตัว”
ต้องบอกเลยว่า ชาวสิงห์ที่เป็นแฟนๆ ของพี่ฉอด พี่อ้อย และรายการ Club Friday เตรียมฝากคำถามกันมาเพียบ จนได้กรณีศึกษาและคำแนะนำต่อปัญหาด้านต่างๆ จากพี่ฉอดและพี่อ้อยที่มั่นใจได้ว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนอย่างแน่นอน เราขอเก็บบรรยากาศการ “ฮีลใจ”ในวันนั้น และสรุปประเด็นที่น่าสนใจมาฝากชาวสิงห์ ร่วมเคลียร์ toxic แล้วมาใช้ชีวิตให้ปัง ทั้งเรื่องส่วนตัวและการทำงานไปด้วยกัน
เพราะองค์กรคือโลกมนุษย์จำลอง เราหนีไม่พ้นสังคมการทำงานที่มีผู้คนหลากหลาย รวมถึงบางคนที่มีความ toxic
หลายคนมีคำถามว่า ฉันควรทำอย่างไรกับคน toxic ในที่ทำงาน? แต่บางครั้งอาจลืมไปว่า เราอยู่ในสังคมการทำงานที่มีผู้คนหลากหลาย ดังนั้น ก่อนจะมุ่งไปที่การจัดการกับคน toxic เราต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจความแตกต่างของผู้คน และเปิดใจเรียนรู้ที่จะมองในมุมที่เราอาจไม่เคยมองมาก่อน
พี่ฉอด: เราเลือกไม่ได้ค่ะว่าเราจะทำงานกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าที่ฉันชอบนิสัยของเขาเท่านั้น นั่นคือความเป็นจริง และเชื่อมั้ยคะเวลาที่เราคิดหรือทําอะไร เราทุกคนจะเป็นพระเอกนางเอกในชีวิตของตัวเองเสมอ บางทีเราไม่รู้ตัวหรอกว่าเรากำลังเป็นผู้ร้ายในชีวิตของคนอื่นอยู่หรือเปล่า เพราะทุกคนมีเหตุผลของตัวเองหมด พี่ก็เลยไม่แน่ใจนะคะว่า ในขณะที่เรารู้สึกว่าบางคน toxic เนี่ย หรือว่าจริงๆ แล้ว เราก็toxic ในชีวิตของเขาอยู่เหมือนกัน จะบอกว่าเราต่างคนต่างมุมมองแบบนี้ อันนี้คือประเด็นหนึ่งนะคะที่อยากให้มอง
อีกอย่างที่ตั้งคําถามว่า จะทํายังไงกับคน toxic ในออฟฟิศดี? พี่ก็จะบอกว่ามันเป็นปัญหาของเขาค่ะ คน toxic ก็ดี คนเห็นแก่ตัวก็ดี คนขี้อิจฉาก็ดี ถามว่าเขามีความสุขเหรอ? เขาไม่มีหรอกค่ะ เราก็ไม่รู้เหตุผลของเขาคืออะไร แต่เราไม่ควรจะต้องเป็นคนที่ไปเดือดร้อนกับสิ่งที่เขาเป็น เราก็แค่หาวิธีใช้ชีวิตของเรา เพราะเราเลือกคนที่เราไปเจอไม่ได้ค่ะ แต่เราจัดวางคนที่เราไปเจอได้ ถ้าเรารู้สึกว่าคนนี้ toxic มาก เราก็เขยิบห่างเขาออกมา พี่ว่าบางทีมันแค่นี้จริงๆ
พี่อ้อย: ในองค์กรคือโลกจําลองของมนุษย์มีคนที่เราชอบ มีคนที่เราไม่ชอบ มีคนที่ไม่ชอบเราและเราไม่สามารถจะไปคอนโทรลให้คนอื่นได้ดั่งใจเรา แต่เราจัดวางตัวเองได้ค่ะ อย่างที่พี่ฉอดบอก ฉะนั้น เมื่อเราต้องทํางานที่นี่ เราจะดีลกันยังไงให้ทุกข์ทรมานต่อกันน้อยที่สุด มีคนเยอะมากนะคะที่ออกจากที่ทํางานหนึ่ง เพียงเพราะว่าไม่ชอบสังคมที่นั่น พี่ก็เลยถามว่าแล้วมั่นใจได้ยังไงคะว่าสังคมหน้าจะโอเคกว่านี้ เพราะทุกสังคมมีความต่าง
พี่ว่ามีแค่อย่างเดียวค่ะ ยอมรับความต่างนั้น และอย่าเหยียดว่าทําไมคิดได้แค่นี้ ทําไมไม่คิดเหมือนฉัน คนคิดไม่เหมือนกันไม่เห็นเป็นความผิดเลย และหลายๆ ครั้ง เรียนรู้ซึ่งกันและกันมันก็สนุกดี เรียนรู้การคิดลบของเขาค่ะ เราจะได้ไม่ต้องรู้สึกว่าฉันต้องได้อยู่กับคนประเภทเดียวกับฉัน แล้วฉันจึงจะมีความสุข พี่เชื่อว่าคนคือตําราเล่มใหญ่ที่สอนเรื่องใจได้ดีที่สุด แล้วเราอาจจะรู้สึกขอบคุณความต่างนี้ก็ได้
จริงหรือที่ว่า ทำดีแทบตาย สุดท้ายไม่มีค่า เพราะหัวหน้ารักลูกน้องไม่เท่ากัน?
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนทำงานหมดไฟ (burnout) คือการที่ทำงานไปแล้วไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร รู้สึกว่างานของตนไม่มีคุณค่า รู้สึกไม่เท่าเทียม หัวหน้าไม่สนใจ ปัญหานี้ เป็นประเด็นที่ทำให้พนักงานลาออกมากเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งนี้ การปรับ mindset ของเรา และการมุ่งมั่นทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างดีที่สุด ก็เป็นทางออกที่สำคัญ
พี่ฉอด: พี่เคยเป็นลูกน้องระดับล่างสุด แล้วค่อยๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ จนวันนี้เป็นหัวหน้าสูงสุด พี่กล้าพูดค่ะว่า ความเท่ากันบนโลกนี้ไม่มีจริง ก่อนอื่นคือปรับ mindset ก่อนว่า ถ้าอยากเท่ากัน ไม่มี แล้วถามว่า ถ้าหัวหน้าเขารักลูกน้องไม่เท่ากัน เขาผิดเหรอ? พี่ขอพูดในมุมของความเป็นหัวหน้าก่อนนะคะ พี่ว่าไม่ผิด เพราะว่าน้องๆ แต่ละคนก็มีความสามารถในการตอบโจทย์หัวหน้าได้คนละแบบ ในมุมของพี่พี่ก็คงจะรักลูกน้องบางคนที่ทำงานตอบโจทย์พี่ได้ดีกว่า
คําว่าตอบโจทย์ไม่ได้หมายความว่าประจบประแจงนะคะ ถ้าเราไปเจอหัวหน้าประเภทนั้นก็จะเป็นอีก case นึงแต่ถ้าเป็นหัวหน้าปกติแล้วเราหวังว่าเขาจะต้องรักเราเท่ากันพี่ว่าเป็นไปไม่ได้ สมมติพี่มีลูกน้อง 2 คน คนแรกช่วยพี่ทำงานได้ทุกอย่าง กับคนที่สองที่เมื่อไรเมื่อนั้นจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ถามว่าพี่จําเป็นต้องรักลูกน้องสองคนเท่ากันมั้ย? ตอบในมุมของความเป็นลูกน้องบ้าง เมื่อเราเป็นลูกน้อง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทํายังไงที่เราจะตอบโจทย์หัวหน้าด้วยเรื่องงาน ในกรณีที่ถามกันมา พี่ขอดักว่า เราอาจจะรู้สึกว่าฉันก็ทําดีแล้ว แต่ทําไมหัวหน้าถึงมองไม่เห็น อันนี้ต้องบอกว่าพี่ไม่แน่ใจนะคะ แต่พี่จะเป็นลูกน้องประเภทที่ เมื่อไหร่ก็ตามที่พี่เจอเจ้านายที่รู้สึกว่าเราไม่ดี เราไม่ตอบโจทย์ พี่จะตั้งเป้าว่าเดี๋ยวฉันจะตั้งใจทํางานให้เลิศ แล้วดูซิว่าเจ้านายจะว่ายังไงฉันได้อีก
พี่อ้อย: ในฐานะที่พี่เป็นลูกน้องมาทั้งชีวิต เวลาที่เราขีดเส้นรอบวง แล้วเราทํางานในเส้นรอบวงของเราให้ดีแบบโดนว่าไม่ได้ เราก็จะมองว่าเราทำดีแล้ว แต่อย่าลืมว่าคนเป็นหัวหน้าต้องดูแลอีกหลายเส้นรอบวงค่ะ บางทีการทําดีแทบตายในเส้นรอบวงของเรา เราไม่รู้หรอกว่าเส้นรอบวงอื่นมีอะไรบ้าง เพราะบริษัทมีนโยบายหลายอย่างที่ต้อง serve โดยรวม นิ้วมือของเราก็เหมือนกันค่ะ นิ้วโป้งคงจะเคยน้อยใจเหมือนกันว่านิ้วฉันมีไว้ทําไมใส่แหวนก็ไม่สวย แต่เมื่อไหร่ที่นิ้วเป็นแผล เราจะรู้ว่าทุกนิ้วมีความสําคัญเหมือนกันหมด ดังนั้น อย่าเพิ่งชิงด้อยค่าตัวเองว่า ฉันเป็นแค่พนักงานตัวเล็กๆถ้าพนักงานตัวเล็กๆ คนนั้น เล็กเกินกว่าจะเป็นประโยชน์ องค์กรก็ไม่เห็นจำเป็นต้องจ้างเรา จริงมั้ยคะ?
พี่ว่ามุมคิด สำคัญ ถ้าด้อยค่าตัวเองว่าทำไปเจ้านายก็ไม่เห็นหรอก ถ้าเจ้านายไม่เห็นเขาเอาคุณออกง่ายกว่าอีกแต่วันนี้คุณยังเป็นประโยชน์ ยังมีคุณค่าต่อที่นี่ ขอฝากไปถึงมุมมองของฝ่ายบริหารเช่นกัน วันนี้อัตราการลาออกของผู้คนจากที่ทํางาน อันดับหนึ่งเลยคือพนักงานรู้สึกไม่มีคุณค่าต่อองค์กรนะคะ
เมื่อบริษัทหมุนตามโลก เราต้องก้าวตามบริษัทให้ทันด้วยเช่นกัน
การที่ทำงานมาก่อนและทำงานมานานกว่า แต่แล้วพบว่า มีคนใหม่เข้ามา อายุน้อยกว่า เงินเดือนมากกว่า ตำแหน่งก็สูงกว่าด้วย บ่งบอกว่าความเป็น seniority ไม่ได้การันตีความก้าวหน้าเสมอไป ต้องขึ้นกับความก้าวทันยุคสมัยของคนทำงาน ซึ่งต้องหมุนไปในทิศทางที่บริษัทกำลังก้าวเดิน
พี่ฉอด: ในฐานะที่เป็นหัวหน้าบางทีมันยากจริงๆ นะคะ ถ้าเราจะใช้คําว่า seniority ในการตัดสินทุกอย่าง พี่ว่าไม่ผิดเลยนะที่คนที่อยู่มาก่อน หรือคนที่ร่วมก่อตั้งบริษัทมาจะรู้สึกว่าในความสําเร็จอันใหญ่โตของบริษัท ฉันมีส่วนนะ ไม่ผิดเลยที่คิดแบบนั้น แต่ใดๆก็ตาม เราต้องยอมรับความจริงว่า โลกเปลี่ยนไปทุกวันบริษัทเองก็ต้องพัฒนาไปทุกวันเพื่อความอยู่รอด และเช่นกันค่ะ คน ไม่ว่าจะอยู่มาตั้งแต่ระดับไหน เมื่อบริษัทหมุนไป เราก็ต้องหมุนให้ทันด้วย ไม่งั้นเราจะกลายเป็นคนที่ตกโลก เราจึงไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ แล้วบอกว่าฉันเป็นคนที่อยู่บริษัทตั้งแต่ต้นนะ เพราะฉะนั้นบริษัทต้องรักษาฉันไว้สิ แล้วถ้ามีคนอย่างนี้เต็มไปหมด บริษัทจะอยู่ยังไง ใช่มั้ยคะ?
เพราะฉะนั้น เมื่อโลกหมุนไปเราต้องหมุนตาม พี่ก็ยอมรับความจริงว่าพี่ก็ตกโลกเหมือนกันในบางจุด ถ้ามีคนที่เด็กกว่า แล้วเขาเข้ากับโลกของการทํางานวันนี้ได้มากกว่า เดินเข้ามาแล้วได้เงินเดือนมากกว่า พี่โอเคค่ะ เพราะพี่ทําไม่ได้อย่างเขา นั่นคือการยอมรับความจริง แต่เมื่อบริษัทจ้างเขามาด้วยเงินที่แพง ความคาดหวังก็แพงด้วยนะคะ บางทีต้องพิสูจน์กันยาวๆ เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด อยู่ตรงไหนทําตรงนั้นให้ดีที่สุด หาวิธีไปต่อข้างหน้าของเรา อันนี้สําคัญกว่า
ชีวิตการทำงาน และชีวิตความรัก แยกออกจากกันไม่ได้
อย่างที่เกริ่นไปแต่แรกว่า ชีวิตการทำงานและชีวิตรัก แยกจากกันได้ยาก หากเราผิดหวังเรื่องความรัก ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อความกระตือรือร้นในการทำงาน อาจเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก แต่สิ่งสำคัญคือการยอมรับความจริง เมื่อไม่ lucky in love เราก็ควรหันมา lucky in game
พี่ฉอด: หลายคนมีปัญหาเลิกกับแฟนซึ่งเป็นคนในที่ทำงานเดียวกัน อยู่ฝ่ายเดียวกัน ต้องเจอหน้ากันตลอด ด้วยความที่ยังทำใจไม่ได้ ก็มักจะมีคำถามว่า ควรจะลาออกจากงานดีมั้ยจะได้ไม่ต้องเจอกับแฟนเก่า? เป็นคำถามที่น่าสนใจนะคะ แต่พี่ไม่แนะนำให้น้องลาออกจากงานนะ งานไม่ได้หาง่ายๆ ถ้าอกหักแล้วยังตกงานอีก จะไปกันใหญ่ ไม่ควรค่ะ
พี่อ้อย: เราต้องอยู่ให้เขาเห็นค่ะว่า ที่สุดแล้วการที่เขาจะออกจากชีวิตเรา ไม่ได้ทําให้ชีวิตเราพังขนาดนั้น ถ้ายังเสียใจก็กลับมาร้องไห้ที่บ้าน แต่ตอนอยู่ตรงนั้น เราก็คือคนหนึ่งที่ทํางานตรงนี้ อย่างน้อยก็มีปัญหาหนึ่งที่แก้ได้ก่อน คือ เรายังได้เงิน ปัญหาปากท้องฉันรับมือได้ เวลารักษาได้ทุกแผลแค่รอให้ได้ค่ะ ตอบไม่ได้จริงๆ ว่าต้องรอนานแค่ไหน เข้าใจว่าพูดง่าย แต่ทำยาก แต่ใช่ว่าน้องจะทําไม่ได้ ถ้าเกิดวันนี้น้องลาออกไปแล้วตกงาน น้องจะยิ่งเสียใจหนักขึ้น ฉันออกมาทําไมเนี่ย เงินก็ไม่มี ยิ่งว่างยิ่งฟุ้งซ่าน
ศิลปะการสื่อสาร สำคัญต่อการอยู่ร่วมกันและใช้ได้ในทุกความสัมพันธ์
ปัญหาที่เกิดในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่ากับคนรัก เพื่อนร่วมงาน หรือครอบครัว บ่อยครั้งเกิดจากการไม่สื่อสาร หรือสื่อสารด้วยอารมณ์มากกว่าจะผ่านการไตร่ตรอง วิธีแก้ปัญหาที่สำคัญของทุกๆ ความสัมพันธ์ จึงเป็นเรื่องของการรู้จักใช้ศิลปะการสื่อสารกันแบบซึ่งๆ หน้า ไม่ใช่การพิมพ์ผ่านโซเชียลมีเดีย
พี่อ้อย: เชื่อมั้ยคะว่าปัญหาเรื่องงานและปัญหาเรื่องความรัก อันดับหนึ่งเกิดจากการสื่อสาร เรามักเรียกร้องให้คนคุยกันดีๆ มีอะไรคุยกันตรงๆ แต่พอคุยตรงๆ แล้วไม่ตรงใจก็กลายเป็นทะเลาะกันอีก การจะสื่อสารกันอย่างมีศิลปะไม่ใช่เรียกร้องให้คุยกันอย่างเดียวนะคะ ต้องเรียนรู้ที่จะฟังด้วย ฟังแล้วถึงไม่เห็นดีด้วยเหมือนกัน แต่อย่างน้อยจะได้เรียนรู้ว่า เรื่องเดียวกันนี้ เขารู้สึกยังไง แล้วมันจะทําให้เรารู้จักในมุมอื่นๆ นอกเหนือจากมุมเราได้มากขึ้น
น้องอาจจะบอกว่า ไม่ชอบเพื่อนร่วมงานคนนี้เลยค่ะ แต่เพื่อนร่วมงานที่เราบอกว่าไม่ชอบเขาอาจจะไม่ชอบเรามาตั้งนานแล้วเขายังทนได้อยู่เลย เป็นไปได้หมดค่ะ พี่ไม่อยากให้เรามองโลกแบบที่ทุกอย่างต้องโคจรรอบตัวฉัน ฉันคือศูนย์กลางจักรวาล ไม่ใช่ค่ะ เรียนรู้การอยู่ด้วยกันให้รอด ทั้งเรื่องงานและความรัก การสื่อสารสําคัญมาก วันนี้เรามีสมาร์ทโฟนพิมพ์ส่งข้อความ แต่มันไม่เหมือนการเดินเข้าไปหา ไปมองหน้า ไปคุยกัน หรือแม้แต่ปลอบกันด้วยความเข้าใจนะคะ
เวิร์คไลฟ์บาลานซ์ อยู่ที่ใจ ไม่ใช่เวลา
วันหยุดทั้งที ใครๆ ก็อยากพักผ่อนโดยไม่คิดถึงเรื่องงาน แต่ในความเป็นจริง แม้จะนอกเวลางานก็มักจะมีเหตุให้ต้องคิดเรื่องงานอยู่เสมอ เป็นแบบนี้ หลายคนจึงอดรู้สึกไม่ได้ว่าขาดเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ กลายเป็นว่า ชีวิตการทำงานไม่มีความสุข เพราะยึดติดเกินไปว่า เราจะทำงานเฉพาะใน “เวลางาน” เท่านั้น
พี่ฉอด: คำว่าเวิร์คไลฟ์บาลานซ์สำหรับพี่ มันอาจจะไม่ได้หมายถึง ทำงานเฉพาะในวันทำงาน และหยุดในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ แต่จะเป็นการที่เราทำงานอย่างเต็มที่จริงๆ ไม่ว่าจะวันไหนหรือเวลาไหนก็ตาม โดยที่รู้ลิมิตของตัวเองว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องนอน ต้องพักผ่อน และจะพักกี่ชั่วโมงเพื่อลุกขึ้นมาทำงานต่อ เพื่อให้ได้งานที่ออกมามีคุณภาพ
เราทุกคนสามารถใช้ชีวิตบาลานซ์ตามธรรมชาติได้นะคะ บางครั้งการที่เราซีเรียสกับคำว่าเวิร์คไลฟ์บาลานซ์เกินไป กลับกลายเป็นทำให้เราเครียด และในความเป็นจริง เมื่อมีงานด่วนเข้ามาวันหยุดเราก็ต้องมีแผนสำรองไว้เหมือนกัน สิ่งสำคัญคือ เวลางานก็ทำงานให้เต็มที่ ถึงเวลาพักก็พักให้เต็มที่ สนุกให้เต็มที่ แล้วแบบนี้เราจะแฮปปี้กับทุกอย่างที่ทำนะคะ
เรียกได้ว่า กิจกรรม Heal Jai Good Day Every Day ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ ได้รับความสนใจและให้ประโยชน์กับชาวบุญรอดฯ อย่างมากจน Singha Wellness ต้องจัดกิจกรรมฮีลใจขึ้นอีกครั้ง ใครที่พลาดโอกาสพูดคุยกับพี่ฉอดและพี่อ้อยในครั้งแรกนี้ อย่าพลาดมาพบกับกูรูทั้งสองได้อีกครั้ง ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ณ หอประชุมใหญ่ ที่สำนักงานใหญ่สามเสน