ในช่วงชีวิตหนึ่ง เราคงเคยได้เห็นสารคดีชีวิตสัตว์โลกผ่านตาบ้างแหละ อย่างน้อยก็ 1 ครั้ง ตัวอย่างที่รู้จักกันดี พูดแล้วจะร้อง อ่ออออออ คือ National Geographic ได้ดูแล้วเพลินมาก อย่างกับปาปารัสชี่ตามถ่ายดูทุกกิจกรรมที่สัตว์ชนิดนั้นทำ
จนนึกย้อนกลับไป ที่ไม่อยากไปซาฟารีเมืองไทยคงเป็นเพราะสัตว์อยู่ในกรงและถูกให้อาหารเป็นเวลา ทำให้การดำเนินชีวิตที่แท้จริงหายไปหมด ถ้าอย่างนั้น เสน่ห์ของการไปเที่ยวซาฟารีที่แท้จริง จะมีที่ไหนบ้างล่ะที่มีแบบนั้น
ซาฟารี หรือ การเที่ยวในรูปแบบชมสัตว์ป่าที่อยู่ตามธรรมชาติ ถ้าพูดถึงแล้วหลายคนจะนึกถึงทวีปแอฟริกา ถามว่ามีที่อื่นอีกมั้ย? ตอบเลยว่ามีเยอะมาก แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าดินแดนแห่งนี้เป็นที่สุดของการท่องเที่ยวสไตล์นี้ ด้วยธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ปริมาณของสัตว์ป่าและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่หาพบที่อื่นได้ยากยิ่ง รวมถึงความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ไม่มีประสบการณ์อย่างเราๆ ที่ไปที่อื่นอาจเกิดเหตุไม่คาดฝัน หรือเราอาจกลายเป็นผู้ประสบภัย และเป็นอาหารมื้อใหญ่ให้สัตว์ในซาฟารีซะเอง
NAMIBIA
นามิเบียเป็นประเทศที่โดดเด่นเรื่องการบริหารจัดการสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ และยังดูแลให้จำนวนสัตว์ป่าเพิ่มปริมาณขึ้นด้วย ขณะที่ประเทศอื่นในแอฟริกา จำนวนสัตว์ป่ากลับลดปริมาณลง เนื่องจากคนในประเทศนามิเบียมีความเชื่อเรื่อง “การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างคนและสัตว์ป่า” โดยให้สัตว์ป่าได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันกว้างใหญ่อย่างสงบสุข มนุษย์ไม่มีสิทธิ์ไปเบียดเบียนหรือรบกวนความสงบสุขนั้น ดังนั้นเราเลยอยากมาแชร์การไปเยือน Etosha National Park (อุทยานแห่งชาติอิโตชา) ที่นามิเบีย เพื่อส่องสัตว์ตามเราได้ง่ายๆ ถูกที่ ถูกเวลา ที่สำคัญราคาถูก เพราะไม่ต้องไปลองผิดลองถูก
When to go
สำหรับใครที่อยากไปส่องสัตว์ที่ Etosha National Park แนะนำให้ไปช่วงมิถุนายน – ตุลาคม เพราะช่วง เมษายน – พฤษภาคม พุ่มไม้ที่ยังพอได้รับน้ำจะยังเขียวชอุ่มอยู่ ช่วยให้สัตว์พรางตัวจากคนได้ดีขึ้น และบ่อน้ำส่วนใหญ่ยังมีน้ำ ทำให้สัตว์กระจายตัวไปทั่วอุทยาน เราจะเจอสัตว์ยากขึ้นตามไปด้วย แต่พอเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป พุ่มไม้จะถูกสัตว์กินไปหมด น้ำจะแห้งไปจากบ่อน้ำ เหลือแค่บ่อน้ำถาวรที่ยังมีน้ำอยู่ ทำให้สัตว์จะมารวมตัวกันที่นั่น เราก็แค่เอาตัวไปดักรอที่บ่อน้ำถาวรแล้วรอให้สัตว์มาหาเราเอง ง่ายกว่ามากใช่มั้ยล่ะ
ในแต่ละวัน ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการส่องสัตว์คือเช้าตรู่ กับมืดค่ำ เพราะเรามีโอกาสได้เจอนักล่าที่เพิ่งกลับมาจากการล่าตอนกลางคืน และจะมีสัตว์มากินน้ำที่บ่อน้ำเยอะกว่าปกติ แต่ตอนกลางวันก็ยังเห็นนะ แค่อากาศจะร้อนทำให้สัตว์เข้าร่มพักผ่อน ส่วนจะเจอตัวหายากมั้ย อันนี้เป็นเรื่องบุญบาปและโชคเลย
ถ้าจะไปให้ครบทุกบ่อน้ำ แนะนำให้ใช้เวลา 2 วัน จะได้ไม่รีบมากจนเกินไป เรามีเวลาแค่ 1 วันเต็ม เลยไปตั้งแต่ประตู Anderson ที่อยู่ทางทิศใต้เปิด แต่ก็ไปได้ถึงแค่บ่อน้ำชื่อ Okerfontein ซึ่งไม่ไกลจาก Namutoni ที่ตั้งแคมป์ไซต์ฝั่งตะวันออกมากนัก ก็ต้องวกรถกลับเพื่อไปให้ทันเวลาประตูอุทยานปิด
Where and what to see
สัตว์ส่วนมากจะอยู่ตามบ่อน้ำ และถนนเส้นรองมากกว่าเส้นหลัก ถ้าให้เรียงลำดับบ่อน้ำที่ชอบก็ Goas > Rietfontein > Ombika / Charitsaub ส่วนแผนที่บ่อน้ำสามารถดาวน์โหลดได้จาก Website ของอุทยาน ซึ่งในนั้นจะบอกด้วยว่าเรามีโอกาสเจอกับสัตว์อะไรบ้าง
ถึงแม้ Etosha National Park เราอาจจะเจอ Big 5 ไม่ครบ (African buffalo / Lion / Leopard / Elephant / Rhino) แต่สำหรับที่เราเจอก็ไม่แย่เลย
LION เจอตอนก่อนเที่ยงวัน เป็นตัวผู้ 2 ตัว ที่บ่อน้ำ Charitsaub ก่อนถึงแคมป์ไซต์ Halali และเกือบ 10 ตัวน่าจะได้ ที่บ่อน้ำ Ombika ตอนเย็น จุดนี้ถ่ายรูปสนุกมาก เพราะเป็นที่โล่ง เห็นน้องชัดมาก แถมใกล้ประตู Anderson นิดเดียว สะดวกมากๆ
ELEPHANT เจอเยอะนะ หลักๆ โขลงช้างจะอยู่ที่บ่อน้ำ Rietfontein และ Goas แถวแคมป์ไซต์ Halali คนชอบถ่ายรูปช้างเล่นน้ำตอนกลางวันต้องไม่พลาด ส่วนเส้นรองเจอเยอะแถวเส้นจากบ่อน้ำ Springbokfontein ไปยังบ่อน้ำ Okerfontein
RHINO เจอแค่ 2 ตัว เป็นแม่ลูกกัน เจอที่เส้นรองจากบ่อน้ำ Springbokfontein ก่อนถึงบ่อน้ำ Okerfontein แรดที่นี่ส่วนมากเป็นแรดดำ สังเกตง่ายๆ ได้จากปากที่แหลมงุ้ม ต่างจากแรดขาวที่ปากจะตัดเป็นทรงสี่เหลี่ยม
CHEETAH เป็น Honorable mention ของทริปนี้ เราเจอ 2 ตัว ก่อนที่จะเจอแรด ก็คือ เจอที่เส้นรอง แถวเส้นจากบ่อน้ำ Springbokfontein ก่อนถึงบ่อน้ำ Okerfontein เหมือนกัน คิดถูกมากที่ยอมขับอ้อมวนเข้าไป คุ้มมากๆ เราวนกลับมาดูอีกรอบด้วยหวังอยากให้เดินออกมาโชว์ตัว แต่จากที่เห็นคือนอนอย่างนั้นเป็นชั่วโมง
นอกจากนั้นก็จะเป็นตระกูลกวางขนาดใหญ่ไปจนเล็ก เรียงลำดับความหายากไปง่ายตามนี้ Kudu > Impala / Hartebeest > Oryx > Dik dik > Springbok ส่วน Giraffe / Zebra / Wildebeest / Ostrich พบได้ทั่วไป
Self-driving and Curfew
ถึง Etosha จะไม่มีชื่อเสียงเท่ากับ Serengeti ที่แทนซาเนีย หรือ Masai Mara ที่เคนยา แต่ข้อดีของ Etosha คือ เราสามารถขับรถเที่ยวเองได้อย่างอิสระ เส้นทางมีแผนที่ ไม่ซับซ้อน จะพักในหรือนอกอุทยาน ก็ต้องติดตามเวลาเปิดปิดประตู ถ้าพักนอกอุทยาน แนะนำให้ไปก่อนเวลาเปิดประตู 20-30 นาที เพราะมีคิวรถเข้าอุทยานอยู่เหมือนกัน จะได้ไม่เสียเวลา เวลาเปิดปิดประตูอุทยานจะยึดตามเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตก เช่น เราไปวันที่ 8 ก.ย. 2023 ประตูเปิด 06:55 น. ปิด 18:50 น. เป็นต้น (แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า 18:30 ซึ่งเราก็มาสายนิดหน่อย ก็ไม่มีปัญหานะ)
การกำหนดเวลาเข้าออก เป็นการไม่รบกวนสัตว์ที่อาจมีวิถีชีวิตออกล่าหาอาหารในตอนกลางคืนของผู้ล่า เราอาจไปรบกวนจนเขาพลาดอาหารที่เขาจะต้องกินตามกำหนดที่เขาจะล่า และในส่วนของผู้ถูกล่า เราอาจไปส่องแสงเปิดเผยที่ซ่อนตัวของเขาจนเขาถูกจับกลายเป็นอาหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการทำลายวิถีชีวิตอย่างที่เราไม่คาดคิด รวมถึงความปลอดภัยของเราเองด้วยถ้าเราต้องเจอกับคนลักลอบล่าสัตว์ติดอาวุธ ถ้าอยากไปส่องสัตว์กลางคืนให้ติดต่อบริษัททัวร์ หรือโรงแรมที่เราพัก ให้คนที่ชำนาญพาไป ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
Fuel is your life !!!
เราควรเติมน้ำมันให้เรียบร้อยก่อนเข้าอุทยาน อย่างเราอยู่ใกล้ประตู Anderson จากทางทิศใต้ ก็จะมีสถานีน้ำมันอยู่ที่หนึ่งชื่อ Petrosol ซึ่งอยู่ที่เดียวกับ Etosha Trading Post ที่เป็นร้านขายของชำ แต่ถ้าต้องเติมน้ำมันฉุกเฉินในอุทยาน ให้ไปที่แคมป์ไซต์ที่ชื่อ Okaukuejo หรือ Halali ก็ได้
Speed limit
ที่อิโตชาสามารถขับรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปได้ แต่จะถูกจำกัดความเร็วให้วิ่งได้เพียง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และนั่นอาจทำให้เรามีเวลาไม่เพียงพอในการขับไปดูให้ครบทุกจุดของเขตอุทยานที่กว้างใหญ่ ถ้าใครทำการบ้านมาดีและอย่างที่บอกว่าต้องมากับดวงด้วย ถ้าดวงดีเราจะได้เจอสัตว์ที่เราอยากเจอครบตามเป้าหมาย แต่ถ้าขี้เกียจทำการบ้านและไม่มีดวงก็แนะนำให้ไปกับรถอุทยาน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายค่ารถเพิ่มขึ้นแต่คุ้มแน่นอน แอบบอกว่าคนขับเป็นคนของอุทยานที่เขาพกวอร์ทุกคัน ซึ่งเขาจะวอร์บอกต่อๆ กันว่าเจอสัตว์อะไรที่จุดไหน ทำให้ไม่เสียเวลาขับไปลุ้นว่าจะเจอไม่เจอแบบที่เราขับกันเอง แต่รถของอุทยานเป็นแบบโอเพ่นแอร์ถ้าใครทนร้อน ทนฝุ่นจากถนนลูกรังได้ลุยเลย ลืมบอกว่ารถส่วนตัวก็ต้องจ่ายค่าเอารถเข้าด้วยเช่นกัน แต่เรามีอิสระเรื่องเวลาและจุดที่อยากไปแต่อาจไม่เจออะไรเลย
Define territory and Safe zone
ถึงแม้เราจะได้รับอนุญาตให้ขับรถภายในอุทยานได้เองอย่างอิสระ แต่เราต้องขับอยู่บนเส้นทางถนน ห้ามขับออกนอกเส้นทางหรือขับเข้าไปเหยียบหญ้าที่ไม่มีทางรถอยู่บนพื้น พูดง่ายๆ คือไม่ให้เปิดเส้นทางใหม่เด็ดขาด เพราะเป็นการรุกล้ำอาณาเขตของสัตว์ และเราต้องนั่งดูสัตว์อยู่ภายในรถเท่านั้น เปิดกระจกรถได้ แต่ห้ามเปิดประตูลงจากรถถึงแม้จะปวดหนักปวดเบา แต่มันก็มีจุดที่ลงได้อยู่นะ ทางอุทยานจะกำหนดจุดที่ลงจากรถได้ หลักๆ คือห้องน้ำที่จะมีป้ายบอกทางเป็นระยะ หรือก็ดูแผนที่อุทยานจะมีปักหมุดให้เห็นว่าตรงไหนมีห้องน้ำบ้าง ภายในจะเป็นส้วมหลุม ถ้านึกไม่ออกก็แบบส้วมสาธารณะที่จีน ทุกอย่างลงไปในบ่อลึกที่ขุดไว้ และอีกจุดหนึ่งคือบริเวณแคมป์ไซต์ของอุทยาน (ราคาที่พักของอุทยานสูงพอตัว ถ้าใครสามารถจ่ายได้ก็แนะนำ) แต่ก็จะถูกกำหนดเวลาเข้าออกที่พักตามเวลาการเข้าออกอุทยานจากภายนอกเช่นเดียวกัน จะไม่สามารถเข้าไปในเวลากลางคืนได้
Accommodations
เราเคยอ่านเจอว่าสำหรับคนที่อยากพักในอุทยาน ให้พักที่แคมป์ไซต์ Okaukuejo เพราะเป็นจุดกึ่งกลางของอุทยานพอดี ขับรถไปตรงไหนก็สะดวก นอกจากนี้เขายังมีเปิดไฟ (Floodlit) ส่องไปที่บ่อน้ำตอนกลางคืนให้ด้วย (ที่แคมป์ไซต์ Halali กับ Namutoni ก็มีเหมือนกัน) ทำให้เราส่องสัตว์กลางคืนได้เลยโดยไม่ต้องเอาตัวออกไปไหน สะดวกมาก และมีโอกาสได้เจอแรดดำที่หายากมากินน้ำตอนกลางคืนด้วย แต่จะพักข้างนอกอุทยานก็ได้ มีโรงแรมหลายระดับราคา แต่ก็ต้องจดจำเวลาประตูอุทยานปิดเปิดให้ดี
National Park Fee
ค่าเข้าอุทยาน Foreign adult คนละ N$ 100 รถเก๋งคันละ N$ 30 และมีค่าอนุรักษ์อุทยานคนละ N$ 50 รถเก๋งคันละ N$ 20 เรามากัน 4 คน รถเก๋ง 1 คัน ก็รวมได้ N$ 650 ราคานี้สำหรับ 1-day pass นับเวลาระบบ 24 ชั่วโมง หลังจากเรากรอกเอกสารก็จะได้รับ Permit มา 1 กระดาษ A4 ก็ผ่านเข้าไปได้เลย แล้วไปจ่ายเงินให้เรียบร้อยที่ Tourist Information ตามแคมป์ไซต์หลัก เพราะตอนออกจากอุทยานจะโดนตรวจว่าจ่ายหรือยังทุกคัน ถ้าคิดจะเนียนไม่จ่ายบอกเลยโดนปรับแพงกว่าเยอะนะ และอย่าทำใบเสร็จหายนะ ถ้าหายก็จะพอๆ กับไม่ได้จ่าย
Food, No Feeding
ห้ามให้อาหารสัตว์ แต่จริงๆ จะบอกว่าอาหารคนที่จะกินยังหายากเลยจะเอาอาหารอะไรให้สัตว์ก่อน ฮ่าฮ่าฮ่า คือด้วยความเป็นป่าและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การบุกรุกของความเจริญของเมืองเลยไม่มี และการซื้อน้ำตุนไว้หลังรถจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ส่วนอาหารกลางวันเราหากินได้ที่แคมป์ไซต์หลัก ร้านอาหารมีแน่นอน เราแวะทานข้าวเที่ยงที่ Halali อาหารก็จะประมาณสเต๊ก เบอร์เกอร์ ไส้กรอกย่าง ร้านอาหารที่นี่ก็หายากทุกอย่างพึ่งพาโรงแรมที่เราพักอย่างเดียว ทำให้ที่พักที่ดีรวมอาหาร เช้า เย็น มีความจำเป็นมาก ถึงแม้ราคาที่พักจะแพงหน่อยก็จ่ายไปเถอะ เพราะถึงหน้างานมันไม่มีอะไรเลยจริงๆ ในรัศมี 100 กิโลเมตร แต่ในเมืองหลวงและเมืองหลักคนละเรื่องเลยนะบอกเลยว่ามีครบ
Etiquette for Game Drive
ถ้าเจอสัตว์ให้ขับเข้าไปต่อคิวให้รถคันอื่นที่มาก่อนได้ดูก่อน แล้วดับเครื่องยนต์เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนสัตว์ ถ้าเจอสัตว์ข้ามถนน เจอรถที่สวนมา ก็ชะลอความเร็วลง พยายามเลี่ยงการแซงรถซาฟารีแบบโอเพ่นแอร์เพื่อที่คนบนรถจะได้ไม่ต้องดมฝุ่นที่คลุ้ง (ถึงแนะนำว่าให้เช่ารถมาขับเองเถอะ)
นอกจากซาฟารี จะบอกว่าประเทศนามิเบีย นามีใจ มีครบทุกรูปแบบ ถ้าวางแผนจะมาต้องไม่ต่ำกว่า 15 วัน ให้คุ้มค่าวีซ่าและตั๋วเครื่องบิน จะบอกว่าเดี๋ยวนี้คนไทยเขาอนุญาตให้ทำ Visa on Arrival ได้แล้ว แต่จำเป็นต้องลงเครื่องที่ HOSEA KUTAKO INTERNATIONAL AIRPORT เท่านั้นนะ แบบ ลง จ่าย จบ ทำให้การไปนามิเบียง่ายขึ้นเยอะเลย
เรื่องและภาพ
พิสิฐกานต์ ฉัตรจรัสแสง
บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
FB: Pisitkarn Chatjaratsang
พลวัชร วุฒิกุลประพันธ์
ที่ปรึกษากฎหมาย / นักลงทุนอิสระ
FB: Polwach Wudhikulprapan