5Rs กับ 5 ไลฟ์สไตล์การใช้ทรัพยากร

0

 

5Rs กับ 5 ไลฟ์สไตล์การใช้ทรัพยากร

ปัจจุบัน การใช้ชีวิตที่เร่งรีบตามยุคสมัย ทำให้กิจกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นประจำวันจำเป็นต้องสะดวกสบายและรวดเร็ว ซึ่งแต่ละกิจกรรมในการดำเนินชีวิตย่อมทำให้เกิดขยะขึ้นไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะที่เกิดขึ้นจากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เพียงครั้งเดียว เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก โฟมบรรจุอาหาร เป็นต้น บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะกลายเป็นขยะทันทีหลังการใช้งานไม่กี่วินาที ทำให้ขยะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และด้วยกระแสความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมกับการจัดการขยะของคนทั่วโลกกำลังได้รับความนิยม เราจึงขอนำเสนอหลักการที่จะใช้เป็นเครื่องมือสำหรับลดการเกิดขยะในชีวิตประจำวันและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการให้ดียิ่งขึ้น ด้วยหลักการ “5Rs” ซึ่งประกอบด้วย

  • Refuse – ปฏิเสธสิ่งที่จะทำให้เกิดของเสีย
  • Reduce – ลดการทำให้เกิดของเสีย
  • Reuse – ใช้ซ้ำเพื่อลดการเกิดของเสีย
  • Repair – ซ่อมแซมปรับปรุง เพื่อให้ใช้ได้นานขึ้น
  • Recycle – นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

REFUSE: การปฏิเสธ หรือการไม่ใช้ของที่ไม่จำเป็น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบหรือเป็นตัวการสร้างมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ปฏิเสธการใช้หลอดพลาสติก เราอาจเคยชินกับการใช้งานเพื่อความสะดวกในการบริโภค แต่การใช้งานเพียงแค่ครั้งเดียวทำให้เกิดขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากไปอีกหลาย 10 ปี หรือการปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกแล้วเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าเพื่อลดขยะปริมาณมหาศาล ที่จะเป็นภาระให้หลุมฝังกลบ

REDUCE: หากไม่สามารถปฏิเสธการใช้ของที่ไม่จำเป็น ก็สามารถใช้ได้ เพียงแต่ให้ลดการใช้แทนเช่น ลดการใช้ถุงพลาสติก ลดการใช้แก้วพลาสติก ลดการรับประทานอาหารเหลือ โดยสั่งอาหารอย่างเพียงพอ เป็นต้น ด้วยวิธีนี้เราจะสามารถลดอัตราการเกิดของเสียลงได้

REUSE: การใช้ซ้ำ โดยนำสิ่งของที่สามารถใช้ซ้ำได้ มาใช้ซ้ำอีกครั้งให้คุ้มค่ามากที่สุด เช่น การใช้แก้วน้ำส่วนตัว เพื่อลดการเกิดของเสียอย่างแก้วพลาสติก การใช้ถุงผ้า หรือการเก็บถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อที่มีความหนาเพื่อนำมาใช้ซ้ำในหลายโอกาส หรือการใช้กระดาษให้หมดทั้งหน้าและหลัง หลักการนี้จะช่วยลดการเกิดของเสียได้ดี และยังเพิ่มความเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความรักษ์สิ่งแวดล้อมของตัวเรา

REPAIR: การซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้นานขึ้น แทนการนำไปทิ้งในทันที เช่น ซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ขาด นำไปเย็บแก้ไข เพื่อลดการทิ้งเป็นขยะ เป็นต้น

RECYCLE: การนำทรัพยากรหรือของที่ไม่ใช้แล้ว กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยในปัจจุบันผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มีการใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และผลิตสินค้ามาในรูปแบบที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เราสามารถช่วยกระบวนการรีไซเคิลนี้ได้ ด้วยการคัดแยกขยะเพื่อให้ง่ายต่อการส่งต่อของไม่ใช้แล้วสู่กระบวนการรีไซเคิลที่เหมาะสม

จะเห็นได้ว่า การใช้หลักการ 5Rs เพื่อลดการเกิดขยะในชีวิตประจำวันนั้นไม่ยากเลย เริ่มต้นจากการปฏิเสธสิ่งที่เราคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ก่อน หากลดการใช้ได้ก็ค่อยๆ ลด แล้วเปลี่ยนมาใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ หากพังชำรุดนิดหน่อยอย่าเพิ่งทิ้ง ลองซ่อมดูก่อน หากสุดท้ายต้องทิ้งของเสียให้เป็นขยะจริงๆ ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะเลือกที่จะใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและง่ายต่อการรีไซเคิลอยู่แล้ว ขยะของเสียที่เราทิ้งไปก็จะกลับมาเป็นบรรจุภัณฑ์หรือสิ่งอื่นๆ ให้เราใช้งานได้อีกครั้งโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างภาระให้คนในรุ่นต่อๆ ไป


5 ถัง 5 สี กับวิธี “เคลียร์ ล้าง แยก”
ถังขยะ 11 ถัง ภายในสำนักงานบริษัทบุญรอดฯ สร้างขึ้นเพื่อรองรับขยะทุกประเภทให้ครอบคลุมมากที่สุด แต่จริงๆ แล้ว ทั้ง 11 ถัง แยกย่อยอีกทีมาจากถังขยะ 5 ประเภท และ 5 สี ดังนี้

สีเขียว: ถังขยะย่อยสลาย (Food Waste) คือ ขยะเศษอาหาร เพื่อนำไปทำปุ๋ยหรืออาหารสัตว์ เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ เปลือกผลไม้

สีฟ้า: ถังขยะทั่วไป (General Garbage) คือ ขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้ ต้องส่งกำจัดอย่างถูกวิธีเท่านั้น เช่น กล่องโฟม หรือขยะที่เปื้อนอาหาร ซึ่งจะมีการแยกจัดการเป็น 2 ส่วน คือ นำไปฝังกลบกับนำไปเป็นเชื้อเพลิง
**ถ้าเป็นของเสียที่เลอะอาหารแล้ว จะยากต่อการรีไซเคิล แต่ถ้าล้างให้สะอาด ก็สามารถนำไปรีไซเคิลและลดปริมาณขยะทั่วไปได้

สีเหลือง: ถังขยะรีไซเคิล (Recyclable Waste) คือขยะที่จะนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ ได้แก่ ขวดพลาสติก PET (PET Bottle) พลาสติกยืด (Stretch Plastic) กระดาษ (Paper) ขวดแก้ว (Glass) กระป๋องอะลูมิเนียม และโลหะอื่นๆ (Aluminium Can / Metal) รวมเป็นขยะถังสีเหลือง

สีแดง:
ถังขยะอันตราย (Hazardous Waste) คือ ขยะที่มีสารเคมีอันตรายเป็นส่วนประกอบ ต้องส่งกำจัดให้ถูกวิธีเท่านั้น

สีแดงเลือดหมู: ถังขยะติดเชื้อ (Infectious Waste) คือ ขยะที่มีเชื้อโรคปะปน ต้องนำไปทำลายทิ้งอย่างถูกวิธี เช่น หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ชุดตรวจ ATK พลาสเตอร์ปิดแผล ต้องส่งกำจัดให้ถูกวิธีเท่านั้น

ถังขยะ 5 สี “เคลียร์ ล้าง แยก” สอดคล้องกับการเก็บขยะในโครงการ “ไม่เทรวม” ของกรุงเทพมหานคร และเนื่องจากขยะที่เกิดขึ้นภายในสำนักงานไม่ได้มีปริมาณมากนัก เมื่อเทียบสัดส่วนกับการใช้รูปแบบถังขยะ 11 ถัง ด้วยเหตุนี้ ในอนาคตจึงอาจมีการรวมถังให้ประเภทขยะน้อยลง แต่วิธีการคัดแยกขยะยังมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม ทั้งนี้ สำคัญที่ยังคงต้องทิ้งขยะให้ถูกถังเพื่อให้ขั้นตอนการเก็บและการจัดการขยะที่ยุ่งยากนั้นลดลง


ธีรพงศ์ พลนำ (ตอง)
วิศวกรสิ่งแวดล้อม 1
บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
Share.