ย่ำโคลน ลุยน้ำ เข้าป่าใต้!

0

เคยได้ยินมาว่า “ความสุขของการเดินทางไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่เป็นระหว่างทางและเพื่อนร่วมทาง” ถ้าคุณได้ลองเดินเข้าป่าใต้ดูสักครั้ง จะรู้ว่านั้นคือเรื่องจริง

ใครเป็นสายเดินป่าไม่ควรพลาด “ป่าใต้” ถ้าพูดถึงป่าใต้ความโหดไม่ใช่แค่ระยะทางหรือความชัน แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูดเลือดได้อย่างไรความปรานีที่เราเรียกกันว่า “ทาก” และ “ฝน” ที่ตกได้ตลอดทุกวันทุกเวลาแบบคาดเดาอะไรไม่ได้เลย สำหรับนักเดินป่าสายถึก อึด ทน บางครั้งต้องลุยน้ำ มุดป่าฝ่าดงหนาม เพื่อแลกกับสิ่งที่จะได้เจอบอกเลยว่าคุ้มสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นเดินบนผืนป่าที่เต็มไปด้วยความเขียวของมอส สัมผัสกับหมอกบางๆ ลอยออกมาทักทายหลังฝนตก และจะได้กลิ่นของป่าในทุกลมหายใจ

ในทางตอนใต้ของประเทศไทยมีเส้นทางการเดินป่าที่ท้าทายนักเดินป่าอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง และหนึ่งที่ที่โด่งดังมากคือ “อุทยานแห่งชาติเขาหลวง” จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมียอดเขามากถึง 1,800 ยอด และมีเส้นทางเดินป่าสัมผัสธรรมชาติระยะไกลถึง 3 เส้นทางหลักๆ ได้แก่ ยอดเขาหลวง ยอดฝามี-เนินลมฝน และสันเครื่องบินตก ผืนป่าทั้ง 3 ยังคงมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และยังเป็นต้นน้ำของเขาหลวง ยอดเขาที่สูงที่สุดของภาคใต้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดพืชพรรณไม้หลายชนิด เปรียบเสมือนเป็นห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่

เส้นทางเดินป่าใต้จะใช้เวลา 3-4 วัน ระยะทาง 26-28 กิโลเมตรโดยประมาณ ซึ่งเราจะเดินเฉลี่ยประมาณ 6-7 กิโลเมตรต่อวัน เส้นทางจะเป็นป่าดงดิบชื้น (Tropical Rainforests) ที่มีฝนตกชุกและมีความชุ่มชื้นในดินค่อนข้างสูงสม่ำเสมอตลอดทั้งปี มีต้นไม้สีเขียวสูงใหญ่เรียงรายไปตามทางเดินทอดยาวไปในป่าที่รกแบบไร้ร่องรอยทางเดินสำรวจป่าที่ชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่ต้องกังวลนอกจากทากและฝน ยังต้องระวังหลงด้วย ในการเดินป่าใต้เราจึงจำเป็นต้องมีพี่พรานนำทางไปด้วยอย่างน้อย 1 คน นอกจากนำทางแล้ว ในมือพี่พรานจะมีมีดยาวๆ คอยฟาดฟันเปิดทางข้างหน้าไว้ให้ และเป็นเครื่องหมายให้เราได้ฝึกสังเกตและแกะรอยเดินตามเวลาพลัดหลง ซึ่งก็เป็นสกิลหนึ่งที่ผุดขึ้นมาอัตโนมัติ เพราะเราหลงกันอยู่เป็นระยะๆ ในทุกวัน แต่สิ่งที่กลัวกลับไม่ใช่การหลงทาง แต่เรากลัวที่ต้องเดินย้อนกลับ เพราะยิ่งหลงไกล ยิ่งย้อนกลับไกล และอีก 1 คนสำคัญที่ขาดไม่ได้ต่อมา คือ ลูกหาบ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 เพราะลูกหาบแต่ละคนจะแบกเสบียงที่จะใช้ในการดำรงชีพตลอดทริปไปให้เราด้วยกระเป๋าที่ใหญ่เท่าตัว และช่วยรังสรรค์อาหาร 3 มื้อรสเริ่ดด้วยวัตถุดิบที่จำกัด ส่วนใหญ่เราจะได้กินเต็มอิ่มเพียงมื้อเช้าและมื้อเย็น ส่วนมื้อกลางวันเรียกว่ากินประทังชีวิต ด้วยข้าวถุงที่มีกับเพียง 1 อย่างราดบนข้าว แต่ให้ความรู้สึกอร่อยสุดๆ เพราะความเหนื่อยและหิว ซึ่งอาหารกลางวันจะเป็นแบบนี้ตลอด 4 วัน โดยอาหารจะทำขึ้นรวมกับอาหารเช้า แล้วจะเอามาแยกใส่ถุงตามจำนวนคนในทริปและแจกจ่ายให้ทุกคนแบกเองในทุกๆ เช้าก่อนเริ่มเดินทาง

ทุกเช้าเราจะนัดกันด้วยระบบ 7-8-9 คือ ตื่น กิน และออกเดิน เราจะใช้เวลาเดินแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเช้า 3 ชั่วโมง และ ช่วงบ่าย 3 ชั่วโมง แต่ละช่วงจะต้องเร่งฝีเท้าเพื่อทำระยะทางให้ได้ตามที่พรานกำหนดไว้ คือ ครึ่งทางจากจุดหมายปลายทางที่เป็นจุดตั้งแคมป์ในแต่ละวัน เพราะการเดินป่าโดยไม่มีแสงอาทิตย์ไม่ได้น่าอภิรมย์สักเท่าไร

ส่วนสภาพอากาศในแต่ละวันไม่เหมือนกันเลยสักวัน บางวันพระอาทิตย์ทำหน้าที่ได้ดีตลอดทั้งวันจนทั้งตัวชุ่มน้ำจากลำธารและความชื้น รวมถึงเหงื่อที่ไหลออกมา บางวันพระอาทิตย์ก็ถูกเมฆบังทำให้อุณหภูมิลดลงมาเล็กน้อยพอให้คลายร้อนได้บ้างแต่ไม่เคยรอดจากฝน เพราะเกือบทุกเย็นฝนจะตกมาให้เราได้ลำบาก วุ่นวาย และท้าทายในตอนที่จะต้องกางเปลตั้งแคมป์เพราะนอกจากจะเปียกยังมีความเละเทะของโคลนที่พื้นจนไม่อยากวางอะไรลงไปถึงแม้อยากจะวางมากก็ตาม หนึ่งในนั้นคือเป้ที่แบกมาตลอดทั้งวัน แต่ถ้าไม่วางเป้จะเอาของออกมาตั้งแคมป์ไม่ได้ และนั้นคือการเรียนรู้จากความผิดพลาดมาแล้วในวันแรกๆ ในการเรียงลำดับความสำคัญของของที่จะใส่ลงในกระเป๋าก่อนหลังเพราะสิ่งแรกที่ต้องหยิบออกมาจากเป้คือแผ่นรองวางเป้ไว้กับพื้น มันต้องอยู่ในที่ที่หยิบง่ายพร้อมใช้งาน และต่อมาที่ต้องหยิบมาใช้คือฟลายชีท มันจะต้องอยู่บนสุดของเป้เพื่อเอาออกมากางเป็นหลังคากางกันแดดกันฝนเหนือเปลที่จะกาง ซึ่งถ้าเดินมาถึงจุดตั้งแคมป์แล้วฝนตกอยู่ นี่คือ 2 สิ่งที่จะทำให้เรากางเปลตั้งแคมป์เวลาฝนตกได้อย่างสบายๆ

หลังจากกางเปลและตระเตรียมที่หลับนอนเรียบร้อย สิ่งต่อมาคือ น้ำ สาธารณูปโภค 1 ในปัจจัย 4 ที่ขาดไม่ได้ นอกจากน้ำที่ใช้อาบแล้วยังมีน้ำที่ต้องใช้ดื่มซึ่งจำเป็นมาก และกลางป่าแบบนี้แหล่งน้ำที่มีอยู่ 2 ที่ คือ ตาน้ำและแม่น้ำหรือลำธาร นี่คือหนึ่งอย่างที่ต้องทำในการวางแผนการเดินป่าของนักเดินป่าทุกคน เราต้องเลือกเส้นทางเดินป่าและตั้งแคมป์ให้ใกล้แหล่งน้ำเพื่อที่เราจะสามารถใช้น้ำได้ง่ายขึ้นและยังใช้ดื่มได้เป็นระยะๆ ระหว่างทางที่เดินไปยังจุดตั้งแคมป์ แต่ถ้าเรามีพี่พรานก็ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้เพราะเส้นทางจะถูกวางแผนมาเป็นอย่างดี แต่ก็มีบางครั้งที่จุดตั้งแคมป์เกิดน้ำแห้งไม่มีแหล่งน้ำให้ใช้แล้ว วันนั้นจะเป็นวันที่เราต้องใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพราะเราจะมีน้ำแค่ที่เราเก็บมาระหว่างทาง แต่ถ้าจำเป็นสุดๆ ต้องการใช้น้ำจริงๆ ความลำบากนี้จะไปตกอยู่ที่ลูกหาบ ที่ต้องเดินย้อนกลับไปเก็บน้ำมาให้ บางทีต้องเดินห่างออกไป 400-500 เมตร ไปกลับก็ 1 กิโลเมตรทั้งระยะทางและน้ำหนักน้ำที่ต้องแบกกลับมา

ความลำบากอีกอย่างซึ่งคราวนี้ตกอยู่ที่ตัวเราเองคือการเข้าห้องน้ำเพื่อถ่ายหนักกลางผืนป่าดงดิบชื้นที่รกชัด แต่ถ้าไม่รกตอนปลดทุกข์ก็ไม่กล้า จะเห็นได้ว่าในทุกๆ เช้าทุกคนจะตื่นมาร้องเรียกหาพลั่ว และผลัดกันเดินเอามันเข้าไปในป่าลึก ครั้งแรกก็จะงงว่าต้องทำยังไง พอครั้งต่อไปคือเซียนมาก เพียงแค่หาที่ไม่มีหญ้า ข้างหลังมีต้นไม้ใหญ่หน่อยให้บัง เจอแล้วก็ขุดกว้างลึกสักหนึ่งฝ่ามือ ถ้าเป็นไปได้ให้แยกระหว่างเบากับหนัก ซึ่งแนะนำว่าควรหาที่ปลดเบาก่อนนะแล้วค่อยหาที่ปลดหนัก

มันเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ชีวิตที่ดี และอยากให้ใครที่ได้อ่านลองได้ไปทักทายป่าใต้ดูสักครั้ง อาจไม่ใช่เรื่องง่ายกับใครหลายๆ คนที่ต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ทำไม่ได้ แค่กลับไปสู่รากเหง้าของเรา ไม่ยึดติดกับความสะดวกสบาย และเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ แล้วความรู้สึกว่าสิ่งที่เรียกว่า ลำบากและทำไม่ได้จะหายไปจากความคิด และทั้งหมดนี่คือ “ป่าใต้”

แนะนำ 8 สิ่งต้องมี ไม่ให้พลีชีพในป่าใต้

1. DEET95 สเปรย์กันทาก
สิ่งสำคัญอันดับ 1 ถ้าจะให้ลำดับความจำเป็นสิ่งนี้เทียบเท่าโทรศัพท์มือถือที่ต้องถือในมือตลอดเวลา แล้วต้องใช้เท่าไรถึงจะพอ ให้นับวันไปเลยว่าไปกี่วันแล้วหารจำนวนวันด้วย 2 นั้นจะเป็นจำนวนขวดสเปรย์กันทาก (ขนาด 70 ml) ที่ต้องเตรียมไปต่อคน ย้ำนะว่าต่อคน แต่ถ้าลองได้เข้าไปเผชิญหน้ากับมันสัก 2 วัน ใครที่ว่ากลัวทากหรือขยะแขยงก็จะเริ่มชิน เพราะมันเยอะมีทั่วไปหมดเดินหลบยังไงก็เจอ

2. Fly Sheet (ฟลายชีท) / Rain Fly (เรนฟลาย) / Tarp ทาร์ป
เขียนไปก็คิดนะว่าทำไมมีหลายชื่อจัง แต่ทั้งหมดนี้มันก็คือผ้าใยสังเคราะห์ที่ใช้กางกันแดดกันฝนเหนือเปลที่จะนอน มันคือสิ่งสำคัญอันดับ 2 รองจาก DEET95 เพราะขึ้นชื่อว่าป่าใต้ ฝนไม่เคยขาด เสื้อผ้าที่ใส่ไม่เคยแห้ง

3. ถุงเท้ากันทาก
ถึงแม้เราจะมี DEET95 ยังคงไม่พอถ้าไม่อยากเป็นผู้บริจาคโลหิตกลางป่า ต้องมีอย่างน้อย 2 คู่เผื่อขาด เพราะนอกจากความถึกทนของทาก ยังมีความไวในการกระโดดจู่โจมและการมุดเข้ารูเสื้อผ้าแบบที่เราไม่รู้ตัว คือมีรูตรงไหนเข้าตรงนั้น เราจำเป็นต้องปิดทุกรูตั้งแต่ปลายเท้าถึงอก ส่วนอกถึงคออาศัยเพื่อนช่วยกันดูเอานะ

4. เปลนอนที่มีมุ้ง
เน้นเลยต้องมีมุ้ง บอกเลยว่าแมลงตัวนั้นตัวนี้มีเยอะมากมาย เพลงนี้จะผุดขึ้นมาในหัวทุกครั้งที่เข้าป่าใต้ ตอนเราตื่นยังพอจะปัดป้องได้ แต่ถ้าหลับละ!!! เคยมีเพื่อนที่ไปด้วยกันเปลเปียก เป้ลงไปแช่อยู่ในน้ำตอนล่องแพลงจากเขาที่พะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เพราะแพติดหินกลางน้ำ ของในเป้รวมถึงเปลที่มีมุ้งที่ใช้นอนทุกคืนเปียก เลยต้องใช้เปลสำรองที่ไม่มีมุ้งนอนแทน เช้าวันรุ่งขึ้นคือบอกเลยว่า ยังไม่ได้นอน เพราะตื่นปัดแมลงทั้งคืน

5. ตัวกรองน้ำพกพา
ถ้าเพื่อนในกลุ่มมีอยู่ก็พอจะยืมใช้กันได้ แต่ซื้อไปเองก็ดีเพราะน้ำที่ใช้ดื่มดำรงชีวิตตลอดทริปมาจากน้ำในลำธาร แม่น้ำ และน้ำตก ซึ่งต้องเป็นแหล่งน้ำที่ไหลตลอดเวลาไม่งั้นอันตรายมาก พี่พรานเล่าให้ฟังว่า เคยมีแค่เป็นแผลที่เท้าแล้วเดินย่ำน้ำที่ขังอยู่บริเวณรอบๆ ลำธาร ไม่กี่วันต่อมาไข้ขึ้น กลับออกไปตรวจพบว่าเป็นโรคฉี่หนู (Leptospirosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งคนและสัตว์ โดยการติดเชื้อในคนจะมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนแบคทีเรียดังกล่าว รวมถึงการสัมผัส หรือได้รับแบคทีเรียทางรอยแผลที่ผิวหนัง

6. ไฟฉาย
ขั้นต่ำ 2 กระบอก แบบมือถือ 1 กระบอก และแบบติดหัว 1 กระบอก เพราะถ้าไม่มีแสงจากดวงอาทิตย์ก็มืดสนิท แต่ถ้าคืนไหนเป็นคืนเดือนหงายก็จะได้แสงจันทร์ช่วยพอให้มองเห็นรอบๆ อยู่บ้าง

7. เป้ ที่ขนาดเหมาะสมกับตัวเอง
ส่วนใหญ่แล้วเวลาทุกคนซื้อเป้ พนันกันได้เลยว่าอยากได้ใหญ่ๆเพราะกลัวใส่ของไม่พอ แต่ลองคิดดูว่าถ้าเป้ใบใหญ่เราจะใส่ของที่เราซื้อมาแบบที่คิดไปเองว่าทุกอย่างจำเป็น จนกว่ามันจะเต็ม และถ้ามันยังไม่เต็มคุณจะคิดอีกว่า เอ๋! เราลืมเอาอะไรไปอีกหรือเปล่าและเริ่มหาของที่จำเป็นมาใส่เพิ่ม แล้วขนาดที่เหมาะสมกับเราคือขนาดไหนล่ะ ? ง่ายๆ เลย คือแบกไหวเท่าไรซื้อเท่านั้น เพราะมันจะอยู่แทบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับหลังของเราตลอดระยะเวลาที่เดินป่า

8. รองเท้าเดินป่า
ขอแนะนำรองเท้าคู่ใจที่ใส่ไปลุยทุกป่าใต้นั้นคือ สตั๊ดดอย ทั้งตัวรองเท้าเป็นยางเนื้อนิ่มพร้อมลุยน้ำลุยฝนไม่หวั่นว่าจะเปียก แถมยังมีดอกรองเท้าหนาเหมือนกับสตั๊ดเตะบอลไม่ต้องกลัวลื่น เพราะดอกลงลึกแทบดึงเท้าไม่ออกจากดิน ความสามารถทั้งหมดนี้ในราคา 100 บาท บอกเลยว่าดีหรือไม่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ราคา แต่ขึ้นอยู่ที่ว่ามันจะกัดเรามั้ย

นอกนั้นคือของใช้ประจำวันต่างๆ จะจำเป็นหรือไม่จำเป็นแล้วแต่ใครจะเตรียมไป เช่น ไม้เท้าเดินป่า เก้าอี้พับ ผ้าเช็ดตัว กระดาษทิชชูเปียก แป้งเย็น แก้ว ช้อน เซ็ตอาบน้ำเล็กๆ ยาสามัญ ยาแก้ปวดเมื่อยหรือยาประจำตัวถ้ามีโรคประจำตัว ส่วนเสื้อผ้าไม่เกิน 4 ชุดก็พอหลักๆ คือ ชุดที่ใส่เดินป่าตลอดทั้งทริป 1 ชุด จะเดิน 2 วัน หรือ 5 วัน ก็ 1 ชุด เพราะถึงแม้จะเปลี่ยนใส่ชุดใหม่มันก็จะสะอาดและแห้งได้ไม่เกินครึ่งวันอยู่ดี เพียงแค่ทุกเย็นเอาชุดที่ใส่เดินมาลงไปอาบน้ำด้วยซึ่งเป็นการอาบน้ำและซักมันไปในตัว แล้วเอามันไปตากเพื่อใช้ใส่ในเช้าวันต่อไป แค่นี้ชุดเดียว 4 วันก็เอาอยู่ จากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นชุดนอนที่ใช้ชุดเดียวกันทุกคืน ที่เหลืออีก 2 ชุด คือชุดเดินป่าและชุดนอนสำรองเผื่อฉุกเฉิน ถ้าไม่ฉุกเฉินคือใส่ชุดเดิมซ้ำวนไป บางทริปชุดสำรองก็ไม่ได้งัดออกมาใช้เลย บอกก่อนว่ายิ่งเตรียมไปเยอะยิ่งหนัก ชั่งใจดูว่าเดินระยะทาง 26 กิโลเมตร 4 วัน แบกไว้ที่กี่กิโลกรัม แต่ถ้าใครพอมี Budget แนะนำให้ซื้อทุกอุปกรณ์ทุกอย่างแบบ Nano เพราะน้ำหนักของของแต่ละชิ้นจะลดลงไปเกือบครึ่ง

Share.