เรื่องเงินเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงจังหวะไหนของชีวิต พวกเราที่อยู่ในวัยทำงาน อาจจะมีความฝันหลายอย่าง อยากมีบ้าน มีรถสวยๆ ขับ อยากจับจ่ายใช้สอย ช้อปปิ้งซื้อสิ่งของที่อยากได้ ตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน แน่นอนว่า เราสามารถจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสิ่งเหล่านี้ได้ตามฐานะของเราแต่ละคน แต่ถ้าเราขาดวินัย ใช้จ่ายเงินมากกว่าที่หามาได้ ย่อมไม่ใช่เรื่องสนุกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำถามสำคัญที่หนีไม่พ้นที่เราจะต้องหาคำตอบเพื่อเตรียมพร้อมไว้เสมอ คือ เมื่อเราเกษียณและไม่มีรายได้ประจำแล้ว จะมีเงินเพียงพอใช้ในอนาคตหรือไม่
ลองคิดดูนะครับ ถ้าปัจจุบัน เราอายุ 40 ปีและวางแผนว่าจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และไม่มีรายได้หลังจากนั้น (โดยไม่นับรวมเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จะสามารถนำมาใช้ได้หลังเกษียณ) โดยมีค่าใช้จ่ายหลังเกษียณเดือนละ 50,000 บาท ไปอีก 25 ปี ถ้าเราวางแผนว่าเงินเก็บของเราในระหว่างทำงานจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 3% ต่อปี เงินออมที่เราจะต้องเก็บก่อนเกษียณจะต้องเป็นเงินอย่างน้อย 30,000 บาท ต่อเดือน จึงจะเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายหลังเกษียณได้
แน่นอนว่าแผนการออมย่อมขึ้นอยู่กับแผนการใช้เงินหลังเกษียณ แต่ในระหว่างนี้ สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้คือ จะออมเดือนละเท่าไหร่ และจะลงทุนอย่างไร เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพียงพอ
หลายคนอาจมองว่า การนำเงินไปฝากธนาคารเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม การฝากเงินกับธนาคารเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด หากดูจากตัวเลขทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยมีเงินเฟ้อ 5.19% ต่อปี (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565)¹ โดยปัจจัยหลักของเงินเฟ้อเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น แต่ในปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำเพียง 0.25% – 1.5%
ต่อปี แสดงว่าการฝากเงินในธนาคารเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ชดเชยกับเงินเฟ้อได้
ดังนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องมาวางแผนการออมอย่างจริงจัง เพื่อให้มั่นใจว่าเรามีภูมิคุ้มกันทางด้านการเงินในระยะยาว เราลองมาดูตัวอย่างกลยุทธ์ในการออมที่เราสามารถนำมาปรับใช้ได้ดังนี้ดูครับ
สร้างแผนการออมเงินให้เหมาะสม
ทั้งนี้ แผนการออมเงินย่อมขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการออม และการใช้เงินของเราตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องการเก็บออมเพื่อใช้ในยามเกษียณ ก็มีความจำเป็นในการออมเงินอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ในระหว่างที่เรากำลังมีรายได้อยู่ เพื่อให้เพียงพอกับการใช้เงินดังกล่าวในอนาคต นอกจากนี้ แผนการออมเงินที่ดี ควรเป็นแผนที่ทำได้จริง ไม่หย่อนหรือตึงเกินไป จนทำให้เรามีเงินเก็บไม่พอตามแผนการออม หรือเป็นแผนที่อาจทำไม่ได้ในระยะยาว เช่น การตั้งผลตอบแทนที่คาดหวังเอาไว้สูงเกินกว่าความเป็นจริง เป็นต้น
เก็บออมเพื่อประหยัดภาษี
การออมเพื่อประหยัดภาษี นอกจากจะทำให้เรามีวินัยในการออมแล้ว ยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายภาษี และสามารถช่วยให้เรามีรายได้หลังภาษีเยอะขึ้นด้วย
ปัจจุบัน การประหยัดภาระภาษี ทำได้โดยการใช้ค่าลดหย่อนต่างๆ ที่กรมสรรพากรอนุญาต เช่น ค่าซื้อกองทุน RMF ค่าซื้อกองทุน SSF เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หรือแม้กระทั่งการนำค่าใช้จ่ายต่างๆ มาหักลดเงินได้พึงประเมิน เช่น ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าอุปการะบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ค่าฝากครรภ์ หรือแม้กระทั่งดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้ เบี้ยประกันชีวิต ยังสามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในอนาคตได้ด้วย และเป็นการลดภาระการใช้เงินในยามที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน ซึ่งการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต และแผนความคุ้มครองต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงในแผนการออมของเราด้วยเช่นกัน
เก็บออมสม่ำเสมอในแต่ละเดือน
เนื่องจากเป็นการยากมากที่เราจะสามารถกำหนดเวลาที่จะเข้าลงทุนในราคาต่ำได้ (Market Timing) เพราะมีปัจจัยหลายอย่างมากที่อยู่เหนือความควบคุมของเรา และหากต้องการเก็บออมในระยะยาว ควรทยอยลงทุนสม่ำเสมอในแต่ละเดือน (Dollar Cost Averaging) เพื่อให้ต้นทุนในการลงทุนเฉลี่ย (เช่น ราคาหุ้นเฉลี่ยที่อยู่ในพอร์ตของเรา) เป็นราคาที่เหมาะสมที่สุด ทั้งนี้ วินัยในการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญมาก
อย่ามองข้ามการลงทุนในหุ้น
เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำและเงินเฟ้อสูง ทำให้การลงทุนในพันธบัตรเพียงอย่างเดียว อาจสร้างผลตอบแทนจริงได้ไม่สูงมากนัก ซึ่งการลงทุนในหุ้นที่มีผลประกอบการดี มีประวัติย้อนหลังในเรื่องการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอ จะสามารถสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมให้กับพอร์ตการลงทุนของเราโดยรวมได้ ทั้งนี้ ประวัติด้านผลประกอบการและการจ่ายเงินปันผล เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่า บริษัทสามารถบริหารจัดการธุรกิจภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่มีความท้าทาย เช่น ในภาวะที่มีเงินเฟ้อสูง ได้ดีหรือไม่ เพราะถ้าบริษัทสามารถบริหารจัดการได้ดี เช่น การลดต้นทุน หรือการส่งผ่านต้นทุนสินค้าที่ขยับสูงขึ้นได้ ก็จะสามารถช่วยให้บริษัทสามารถรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลและสร้างกระแสเงินสดกลับคืนมาให้กับนักลงทุนได้เช่นกัน
นอกจากนี้ หากดูสถิติย้อนหลังในอดีต โดยยกตัวอย่างตลาดสหรัฐอเมริกา ที่เปรียบเทียบการลงทุนระหว่างกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตร 100% และกองทุนที่ลงทุนผสมผสานระหว่างพันธบัตร 70% และหุ้น 30% ในช่วงระหว่างปี 1926 – 2016 พบว่า กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตร 100% สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ 5.4% และกองทุนที่ลงทุนผสมผสานระหว่างพันธบัตร 70% และหุ้น 30% สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ 7.2% ซึ่งสูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรเพียงอย่างเดียว และมีจำนวนปีที่มีผลตอบแทนติดลบ ในจำนวนที่เท่ากัน (คือ 14 จาก 91 ปี)²
ลงทุนในกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนที่เก่ง มีผลการดำเนินงานในอดีตที่ดี
เนื่องจากผู้จัดการกองทุนที่เก่ง มักจะสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องได้มากกว่า ทั้งนี้ มีบทวิจัยหลากหลายในต่างประเทศที่ศึกษาพบว่า กองทุนที่มีผลดำเนินการที่ดี เป็นเพราะผู้จัดการกองทุนที่เก่ง และผลการดำเนินงานในอนาคตมักจะมีปัจจัยเรื่องความต่อเนื่อง (หรือ Momentum) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยที่คนเก่งก็มีแนวโน้มที่จะเก่งต่อไป
อย่าลงทุนในสินทรัพย์ที่เราไม่เข้าใจ หรืออย่าลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมาก ในสัดส่วนที่มากจนเกินไป
ในปัจจุบัน เราอาจเห็นราคาสินทรัพย์ทางเลือกเช่น Cryptocurrency จำพวก Bitcoin หรือเหรียญอื่นๆ ที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก สร้างความหอมหวนในการลงทุน แต่อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่าราคาสามารถเหวี่ยงลงอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน ดังที่เห็นในช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 สร้างความหวาดกลัวให้กับนักลงทุนที่ปีกไม่แข็งระดับหนึ่ง ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องบริหารความเสี่ยงของภาพรวมการลงทุนของเรา โดยไม่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่มากเกินไป และไม่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เราไม่เข้าใจ
ภูมิคุ้มกันด้านการเงินที่ดีย่อมเป็นเสมือนวัคซีนที่ช่วยป้องกันเราในยามที่จำเป็น และสร้างความสุขให้กับเราในระยะยาวด้วย เรามาลองสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน โดยนำกลยุทธ์บางอย่างไปปรับใช้ในการบริหารการเงินของเราแต่ละคนดูนะครับ
ที่มาข้อมูล
1. ดัชนีราคาผู้บริโภค ประเทศไทย ช่วงเดือน มกราคม – พฤษภาคม 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า : กระทรวงพาณิชย์
2. ผลทดสอบย้อนหลังของกองทุน Vanguard จาก financialsamurai.com และอ้างอิงจาก Finnomena